9 ผลกระทบทาง ‘สุขภาพ’ เมื่อเข้าสู่ ‘วัยทอง’
ภาวะวัยทองหรือภาวะหมดประจำเดือน หรือภาวะใกล้หมดประจำเดือน มีผลกระทบกับร่างกายของเราอย่างไรบ้าง?
1.ความเสี่ยงเรื่องโรคอัลไซเมอร์ เพราะเมื่ออายุมากขึ้นร่างกายมีการผลิตฮอร์โมนน้อยลง เกิดฮอร์โมนไม่สมดุล ส่งผลกระทบต่อเซลล์สมอง เกิดเซลล์สมองเสื่อมหรือตายได้
2.ผมร่วง เส้นผมจะบางลง เส้นเล็กลง ผิวแห้ง ความชุ่มชื้นน้อย มีริ้วรอย ความยืดหยุ่นของผิวไม่ดี รอยแตกต่างๆ คันตามผิวหนัง
3.ระบบเมตาบอลิซึม (Metabolism) ของร่างกาย ระบบเผาผลาญ ปฏิกริยาเคมีในร่างกายจะเปลี่ยนไป คนที่พอเวลาใกล้ๆ จะหมดประจำเดือน เช่น ประจำเดือนมาบ้างไม่มาบ้าง มีเลือดออกกะปริบกะปรอย ลองสังเกตดูเลยว่าจะมีคอเลสเตอรอลสูงขึ้น เมื่อตรวจสุขภาพประจำปีจะพบว่า คอเลสเตอรอลจะค่อยๆ สูงขึ้นเรื่อยๆ เพราะตัวคอเลสเตอรอลเป็นสารตั้งตั้นในการไปสร้างฮอร์โมน พอเวลาที่ฮอร์โมนลดลงร่างกายเราจะพยายามสร้างฮอร์โมนมากขึ้นจึงต้องสร้างคอเลสเตอรอลให้มากขึ้นด้วย ถ้ารักษาฮอร์โมนให้ดีได้ คอเลสเตอรอลก็จะลดลงโดยไม่ต้องกินยาคอเลสเตอรอลเลย หากเมื่อคอเลสเตอรอลสูงขึ้น LDL (ไม่มันเลว) ก็สูงขึ้น Oxidized LDL ก็จะเยอะขึ้นด้วย (Oxidized LDL คือ เวลาที่ LDL จะไปเกาะไปพอกหลอดเลือดนั้น ตัว LDL จะต้องเปลี่ยนไปเป็น Oxidized LDL ก่อนแล้วถึงจะไปเกาะหลอดเลือด ทีนี้เมื่อเรามีฮอร์โมนเพศอยู่ ฮอร์โมนเพศจะไปบล็อกไม่ให้ LDL เปลี่ยนเป็น Oxidized LDL เพราะฉะนั้นโอกาสที่คนมีประจำเดือนอยู่แล้วจะเกิดไขมันไปอุดตันหลอดเลือดจึงเกิดขึ้นได้ยาก)
4.ระบบหัวใจและหลอดเลือด มีความเสี่ยงเกิดโรคหัวใจ หลอดเลือดหัวใจตีบ ยิ่งในผู้หญิงที่อายุเกิน 50 ปีจะมีความเสี่ยงมากขึ้น เพราะว่า LDL เยอะขึ้นด้วย พอ Oxidized LDL เยอะก็จะไปเกาะไปพอกหลอดเลือดเยอะ หลอดเลือดเลยตีบตัน เลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจก็เลยลดลงหัวใจจึงขาดเลือดได้ มีโอกาสเกิดหลอดเลือดหัวใจอุดตัน มีปัญหาคอเลสเตอรอลมาอุดตันหลอดเลือดหัวใจหรือหลอดเลือดสมองได้เยอะขึ้น เกิดความดันโลหิตสูงได้ เพราะพอเวลาอายุใกล้ 50 ปี ไปเรื่อยๆ ค่ายูริกจะค่อยๆ สูงขึ้น ซึ่งยูริกเป็นตัวทำร้ายหลอดเลือด ยูริกสูงเป็นต้นเหตุของโรคความดันโลหิตสูง โรคไตวาย แต่ฮอร์โมนเอสโตรเจนของผู้หญิงเป็นตัวช่วยขับยูริกออกจากร่างกายทำให้ยูริกไม่สูงในเลือด แต่พอเวลาที่ฮอร์โมนเริ่มหมด ยูริกจะค่อยๆ สูงขึ้น พอยูริกสูงจะไปทำร้ายหลอดเลือด พอหลอดเลือดเสื่อมจึงเกิดความดันโลหิตสูงได้ (อีกอย่างคือ ยูริกเป็นตัวที่บ่งบอกถึงอนุมูลอิสระในร่างกาย คนที่มียูริกสูงจึงบ่งบอกว่ามีอนุมูลอิสระในร่างกายจำนวนมาก เพราะว่ายูริกเป็นสารต้านอนุมูลอิสระของร่างกายที่ร่างกายสร้างขึ้นเอง แล้วทำไมยูริกถึงเยอะนั้น เพราะว่าฮอร์โมนเพศหญิงเป็นสารต้านอนุมูลอิสระตามธรรมชาติ สมมติว่าเรามีฮอร์โมนอยู่คือเรามีสารต้านอนุมูลอิสระอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นอนุมูลอิสระจึงไม่เยอะ แต่ทีนี้พอเวลาที่ฮอร์โมนหมดหรือลดลง ก็จะไม่มีสารต้านอนุมูลอิสระ อนุมูลอิสระจึงเยอะขึ้น ยูริกก็จะสร้างขึ้นเยอะ พอยูริกสร้างขึ้นเยอะจึงทำให้หลอดเลือดเสื่อมได้)
5.เต้านมจะเล็กลง หย่อนยานมากขึ้น เนื่องจากฮอร์โมนเพศมีการเปลี่ยนแปลง ไม่สมดุล
6.มีผลกระทบต่อกระดูก วัยทองมีผลกระทบกับกระดูก เกิดกระดูกบางกระดูกพรุน ทำให้กระดูกหักง่าย อาการที่จะบอกคือ ปวดหลัง ปวดเข่า กล้ามเนื้ออ่อนแรง แล้วการที่กระดูกหักง่าย ในผู้สูงอายุสิ่งที่น่ากลัว คือ กระดูกสะโพกหัก หากกระดูกสะโพกหักจะกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง แล้วพบว่า ผู้ป่วยที่มีกระดูกสะโพกหักมักจะเสียชีวิตตามมาภายใน 1 ปี
7.ทางเดินปัสสาวะ พอเวลาที่เราเป็นวัยทองสิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ บางทีเราจะติดเชื้อทางเดินปัสสาวะง่าย กระเพาะปัสสาวะอักเสบได้ง่าย บางทีนึกจะปวดปัสสาวะก็ปวดเลย แล้วก็ทนไม่ไหว ต้องปัสสาวะทันที กลั้นปัสสาวะไม่ได้ เวลาที่ไอหรือจามอาจมีปัสสาวะเล็ดออกมาได้ด้วย
8.ระบบสืบพันธุ์ เช่น ช่องคลอดแห้ง ช่องคลอดคัน ช่องคลอดติดเชื้อง่าย ระคายเคืองช่องคลอด มีอาการเจ็บเวลาร่วมเพศ
9.มีอาการต่างๆ เช่น ปวดหัว เวียนหัว มึนงง บ้านหมุน หูอื้อ อ่อนเพลีย อาหารไม่ย่อย
.
ปัญหาต่างๆ ใน 9 ข้อนั้นสามารถแก้ไขได้ด้วย ‘ฮอร์โมน’ ทีนี้ความกังวลของคนเราเมื่อมีการใช้ฮอร์โมนเสริมมักคิดว่าจะเป็นมะเร็ง แต่มีมะเร็งเพียงชนิดเดียวที่มีหลักฐานทางการแพทย์ยืนยันแล้วว่า เกิดจากการใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจนเสริมเพียงอย่างเดียวที่ทำให้เกิดมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก แต่พบว่าถ้าคุณใช้ฮอร์โมนโปรเจสเทอโรนร่วมกับฮอร์โมนเอสโตรเจนจะสามารถช่วยลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งได้ (แต่ว่าถ้าเป็นมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกแล้วจะใช้ฮอร์โมนเสริมไม่ได้) แนะนำให้ใช้ DIM ควบคู่ไปด้วย DIM เป็นสารสกัดจากบล็อคโคลี ดอกกะหล่ำ เมื่อทานบล็อคโคลีหรือดอกกะหล่ำจะมีสารสำคัญที่ชื่อว่า Indole 3 Carbinol ซึ่งสารนี้จะเปลี่ยนไปเป็น DIM ซึ่ง DIM จะไปช่วยบล็อกเอสโตรเจนที่ไม่ดี แล้วไปช่วยเพิ่มเอสโตรเจนที่ดีให้มากขึ้น ปกติเอสโตรเจนที่อยู่ในร่างกายนั้นจะขึ้นอยู่กับไลฟ์สไตล์ของเรา หากมีไลฟ์สไตล์ที่ดีจะทำให้เอสโตรเจนเปลี่ยนไปเป็นเอสโตรเจนที่ดี แต่หากมีไลฟ์สไตล์ที่ไม่ดีเอสโตรเจนจะเปลี่ยนเป็นเอสโตรเจนที่ไม่ดี แล้วเอสโตรเจนที่ไม่ดีนี้จะไปกระตุ้นการเกิดมะเร็งได้นั่นเอง ซึ่ง DIM มีหน้าที่ในการบล็อคเอสโตรเจนไม่ให้เปลี่ยนเป็นเอสโตรเจนที่ไม่ดี
.
จะเห็นได้ว่าฮอร์โมนเพศเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากกับระบบในร่างกาย การที่มีฮอร์โมนที่ดีจะยิ่งช่วยให้ร่างกายมีความสมดุล ระบบต่างๆ ในร่างกายทำงานได้ปกติ และช่วยป้องกันการเกิดโรคต่างๆ ได้มากมาย โดยเฉพาะพวกเรื่องระบบหัวใจและหลอดเลือด ป้องกันหลอดเลือดอุดตัน ยังไงเมื่อเข้าสู่วัยทองก็อย่าละเลยการดูแลฮอร์โมนของตัวเองกันนะคะ เพื่อจะได้มีชีวิตที่ยืนยาวและมีความสุขกันค่ะ