Testosterone คืออะไร ?
ฮอร์โมนเพศชายหลายๆตัว ถูกเรียกรวมๆ กันว่า androgens แต่ฮอร์โมนเพศที่สำคัญที่สุดสำหรับผู้ชาย คือ ฮอร์โมน testosterone และผู้หญิงก็มีฮอร์โมนตัวนี้เช่นเดียวกัน.
Testosterone ในผู้ชายจะผลิตจากอัณฑะ และในผู้หญิงจะผลิตจากรังไข่ และมีบางส่วนผลิตจากต่อมหมวกไตในทั้งชายและหญิง โดย testosterone จะมีบทบาทในการพัฒนาลักษณะความเป็นชาย
หลายคนอาจจะเข้าใจว่า ฮอร์โมน testosterone เป็นฮอร์โมนที่ทำให้ก้าวร้าว อารมณ์ฉุนเฉียว แต่ในความเป็นจริงแล้ว ฮอร์โมนนี้มีบทบาทสำคัญต่อสุขภาพของผู้ชายเป็นอย่างมาก
Testosterone มีบทบาทต่อผู้ชายในเรื่องใดบ้าง ?
– การพัฒนาของอวัยวะสืบพันธุ์ชาย
– การเปลี่ยนแปลงของเด็กชายเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น เช่น เสียงแตก มีขนขึ้นบนใบหน้า และที่อื่นๆ (แต่ก็ทำให้ผมร่วงเมื่ออายุมากขึ้นได้)
– ความแข็งแรงและขนาดของกล้ามเนื้อ
– ความแข็งแรงและการเติบโตของกระดูก
– ความต้องการทางเพศ
– การผลิตสเปิร์ม
หากระดับ testosterone ต่ำผิดปกติ จะเกิดอะไรขึ้น?
ปริมาณการผลิตของ testosterone จะถูกควบคุมโดยการส่งสัญญาณจากต่อมใต้สมอง หาก testosterone ในกระแสเลือดมีมากเกินไป สมองจะสั่งให้ต่อมใต้สมองลดการผลิตลง
ในผู้หญิง ฮอร์โมน testosterone มีผลต่อการตกไข่ ความแข็งแรงของกระดูก และความต้องการทางเพศ ความสมดุลของปริมาณของ testosterone รวมถึงฮอร์โมนเพศชายอื่น ๆ และเอสโตรเจนมีบทบาทสำคัญให้รังไข่ทำงานได้เป็นปกติ โดยเชื่อว่ากลุ่มฮอร์โมนเพศชายนี้มีส่วนช่วยให้สมองทำงานได้ดี ทั้งในเรื่องของอารมณ์ ความต้องการทางเพศ และการทำงานของสมองด้านความคิดและความเข้าใจ
Testosterone เป็นฮอร์โมนที่ร่างกายสังเคราะห์มาจากคอเลสเตอรอล แต่คนที่ทีมีคอเลสเตอรอลสูงอย่าเพิ่งดีใจ เพราะไม่ได้หมายความว่า testosterone จะสูงตามไปด้วย
ในเด็กหนุ่ม หากมี testosterone ที่ต่ำเกินไป ความเป็นชายก็น้อยลงตามไปด้วย อวัยวะเพศอาจไม่โตเต็มที่ ขนใบหน้าและลำตัวมีน้อย และเสียงไม่แตกเต็มที่
ในผู้ชาย ระดับ testosterone จะสูงที่สุดในช่วงวัยรุ่นจนถึงอายุ 30 ปี หลังจากนั้น ระดับ testosterone จะค่อย ๆ ลดลง 1-2% ในทุก ๆ ปี แต่จะไม่ลดลงจนเหลือค่าเป็นศูนย์ ต่างจากเพศหญิงที่เอสโตรเจนจะลดลงอย่างรวดเร็วและมีค่าเป็นศูนย์เมื่อเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน ทำให้วัยทองของผู้หญิงมีอาการชัดเจนกว่าผู้ชาย
หากระดับ testerone ในผู้ชายต่ำเกินไป จะมีอาการ ดังนี้
– ขนตามใบหน้าและลำตัวหลุดร่วง
– สูญเสียมวลกล้ามเนื้อ
– สมรรถภาพและความต้องการทางเพศลดลง และมีบุตรยาก
– หน้าอกใหญ่ขึ้น
– ร้อนวูบวาบ
– ขี้หงุดหงิด สมาธิลดลง และมีอาการซึมเศร้า
– กระดูกบาง
– เหนื่อยง่าย
สาเหตุที่ทำให้ testosterone ต่ำลง ?
ในผู้ชายอายุที่อายุต่ำกว่า 50 ปี การมีระดับ testosterone ที่ลดลงกว่าปกติ อาจเกิดจากความเจ็บป่วย เช่น โรคเบาหวานประเภทที่ 2 โรคตับหรือไตเรื้อรัง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังหรือโรคปอดอื่น ๆ การทำงานไม่สมบูรณ์ของต่อมใต้สมอง การติดเชื้อ HIV การรักษาด้วยการฉายรังสีหรือเคมีบำบัด หรือเกิดจากโรคทางพันธุกรรม นอกจากนี้ ภาวะเหล็กเกิน ก็ยังเป็นอีกสาเหตุหนึ่ง
นอกจากสาเหตุข้างต้นแล้ว การได้รับบาดเจ็บ หรือการใช้สเตียรอยด์ก็ส่งผลให้การทำงานของอัณฑะลดลงได้
แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า ค่า testosterone ของเราต่ำเกินไป ?
การเจาะตรวจเลือด สามารถบอกได้ว่า ค่า testosterone ของเราต่ำกว่าเกณฑ์หรือไม่ และแพทย์เฉพาะทางด้านทางเดินปัสสาวะหรือต่อมไร้ท่อ จะเป็นผู้วินิจฉัยและทำการรักษา
จะเพิ่ม testosterone อย่างไร ?
หากไม่ได้เจ็บป่วย หรือมีโรคทางพันธุกรรม ไม่จำเป็นต้องรักษาด้วยการกินฮอร์โมน testosterone ในทุกราย เราสามารถเพิ่ม testosterone ด้วยตัวเองได้ โดยการปรับเปลี่ยนการดำเนินชีวิต ดังนี้
ออกกำลังกาย
มีการศึกษาว่า ในคนอ้วน การออกกำลังกายนั้นมีผลดีในการเพิ่ม testosterone ได้ดีกว่าการควบคุมอาหารเพื่อลดน้ำหนัก [1] การยกเวท และการออกกำลังกายแบบ hiit ให้ผลดีที่สุด
อาหาร
รับประทานในปริมาณเหมาะสม โดยโปรตีนจะช่วยให้ระดับฮอร์โมนอยู่ในระดับที่เหมาะสม คาร์โบไฮเดรตช่วยปรับระดับฮอร์โมนเมื่อเราออกกำลังกายแบบใช้แรงต้าน (resistance training) ไขมันดีก็มีส่วนสำคัญที่ช่วยให้ฮอร์โมนในร่างกายสมดุล ซึ่งรวมถึงฮอร์โมน testosterone
ลดน้ำหนัก
มีการศึกษาระดับ testosterone ในเพศชายอายุ 14-20 พบว่า คนที่น้ำหนักเกินเกณฑ์ มีระดับ testosterone น้อยกว่าคนที่น้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติถึง 40-50% [2]
ลดความเครียด
เพื่อลดระดับของ cortisol (หรือฮอร์โมนเครียด) หาก cortisol สูงขึ้น ร่างกายจะผลิต testosterone น้อยลง นอกจากนี้ cortisol ยังส่งผลให้เราอยากอาหารมากขึ้น น้ำหนักขึ้น มีการสะสมไขมันที่อวัยวะในร่างกาย
เสริมวิตามินดี
และสังกะสี (zinc) มีการศึกษาว่าวิตามินดี ช่วยเพิ่ม testosterone ได้มากถึง 25% และสังกะสีช่วยเพิ่ม testosterone ได้ในนักกีฬา และผู้ที่ขาด zinc
วิตามินดีมีมากในปลาที่มีไขมันสูง เช่น ปลาแซลมอน ปลาทูน่า ปลาทู ปลาซาร์ดีน ไข่ และนม
สังกะสี พบได้ในอาหารทะเล โดยเฉพาะหอยนางรม เนื้อสัตว์ ไข่ นม ธัญพืช ถั่ว
นอนหลับวันละ 7-10 ชั่วโมง
การนอนหลับไม่เพียงพอ ระดับฮอร์โมนและเคมีที่ทำให้ร่างกายทำงานได้เป็นปกติจะเสียความสมดุล หากมีอาการนอนไม่หลับต่อเนื่อง ควรปรึกษาแพทย์
หลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์
การดื่มแอลกอฮอล์ที่มากเกินไป จะส่งผลกระทบต่อการทำงานระบบต่อมไร้ท่อ ซึ่งเป็นระบบสำคัญในการผลิตฮอร์โมนของร่างกาย และแอลกอฮอล์ยังเป็นตัวกระตุ้นให้ร่างกายผลิตฮอร์โมน cortisol เพิ่มขึ้น ทำให้การผลิต testosterone ลดลง
หากมีอาการคล้ายกับ testosterone ต่ำ ควรปรึกษาแพทย์ เพราะอาจจะเกิดจากสาเหตุอื่นได้ เช่น ความดันโลหิตสูง หรือการทำงานของไทรอยด์ไม่ปกติ หากได้รับการรักษาที่ถูกต้อง จะช่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้
สำหรับคุณผู้ชายที่มีระดับ testosterone ที่ดีอยู่แล้ว ก็อย่าละเลยในการใส่ใจสุขภาพ กินอาหารดี ออกกำลังกาย พักผ่อนเพียงพอ เพื่อจะคงความเป็นชายไว้ได้ยาวนาน ไม่ต้องพึ่งพาหมอ