กินผักตามฤดูกาล
✓ปลอดภัยกว่า ✓ราคาถูกกว่า ✓โภชนาการสูงกว่า
.
แม้ว่าเทคโนโลยีปัจจุบันจะทำให้เราสามารถเลือกทานผักผลไม้หลากชนิดได้ตลอดทั้งปี โดยไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงฤดูกาลและสภาพแวดล้อม แต่ทราบหรือไม่คะว่า ผักที่ไม่ได้ปลูกตามฤดูกาลนั้น อาจมีความเสี่ยงในเรื่องของการใช้ปุ๋ยและสารเคมีที่มากกว่า ทั้งเพื่อกำจัดศัตรูพืชและเพื่อเร่งโตให้เก็บเกี่ยวได้ตามความต้องการ การทานผักนอกฤดูกาลจึงอาจเพิ่มความเสี่ยงสารเคมีปนเปื้อนที่มากกว่าค่ะ
.
ด้วยเหตุนี้เราจึงขอชักชวนให้ทุกคนหันมาเน้นทานผักที่ปลูกตามฤดูกาล ซึ่งมักจะปลอดภัยกว่า เนื่องจากจะถูกเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวในฤดูนั้นๆ เลย จึงไม่ต้องใช้สารเคมีเป็นจำนวนมากในการเพาะปลูก อีกทั้งยังมีความสดกว่า รสชาติอร่อยกว่า ราคาถูกกว่า และมีสารอาหารและคุณค่าทางโภชนาการมากกว่าอีกด้วยค่ะ โดยเรามีตัวอย่างผักตามฤดูกาลที่ควรเลือกกินดังต่อไปนี้
.
☀ฤดูร้อน (มีนาคม – พฤษภาคม)
ผักช่วงฤดูร้อนมีลักษณะทนต่อความร้อนหรือแล้งได้ รวมถึงทนต่อความร้อนของแสงแดดได้ และไม่ต้องการน้ำมาก เช่น ใบเหลียง แตงโมอ่อน ผักหวานป่า บีทรูท มะเขือเทศ ฟักทอง มะระ กระเจี๊ยบเขียว แตงกวา กะเพรา ใบแมงลัก คะน้า ถั่วฝักยาว ถั่วพู มะเขือเปราะ มะเขือพวง หอมใหญ่ เห็ดฟาง
.
🌧ฤดูฝน (มิถุนายน – ตุลาคม)
ผักช่วงฤดูฝนจะมีความชื้นสูง มักมีน้ำเยอะหรืออยู่ในน้ำอยู่แล้ว ไม่ต้องการแสงแดดมาก เช่น ผักแว่น ผักกระเฉด หัวปลี น้ำเต้า ดอกโสน ใบขี้เหล็ก กระเจี๊ยบเขียว ดอกขจร ปลัง ผักบุ้งนา มะเขือส้ม ผักโขม ผักหวานบ้าน บัวบก หน่อไม้ ชะอม ตำลึง สายบัว ผักกูด ถั่วฝักยาว
.
❄ฤดูหนาว (พฤศจิกายน – กุมภาพันธ์)
ผักช่วงฤดูหนาวเป็นผักตระกูลกินใบและชอบอากาศเย็น เช่น ผักสลัด สะเดา กะหล่ำดอก บรอคโคลี ผักกาดหอม กะหล่ำปลี ผักกาดขาว ปวยเล้ง กวางตุ้ง ดอกแค แครอท ตะลิงปลิง ลูกเหรียง ฟักข้าว มะรุม ถั่วลันเตา
.
นอกจากนี้ ก็อย่าลืมล้างผักให้ถูกวิธี ซึ่งจะช่วยให้เราได้ทานผักและผลไม้อย่างปลอดภัย ปราศจากสิ่งตกค้างที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็น สิ่งสกปรก ฝุ่นละออง สารเคมี ยาฆ่าแมลง ไข่พยาธิ หรือแม้แต่เชื้อแบคทีเรียปนเปื้อนนะคะ เช่น การแช่ผงฟูหรือใช้ผลิตภัณฑ์ล้างผักผลไม้ ซึ่งจะช่วยชะล้างสิ่งปนเปื้อน ตลอดจนสิ่งตกค้างที่ติดมากับผักและผลไม้ให้หลุดออกได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่าล้างน้ำเปล่ามากค่ะ