ปวดหัวเฉียบพลัน เกิดจากอะไรได้บ้าง? และแบบไหนที่เรียกว่าอันตราย?
เชื่อว่าเกือบทุกคนคงเคยมีประสบการณ์ปวดหัวเฉียบพลันกันมาบ้างแล้ว ซึ่งอาการของแต่ละคนอาจมีความรุนแรงแตกต่างกันตามสาเหตุ แต่แทบทุกคนล้วนมีความกังวลใจกันอยู่ไม่น้อยเวลาเกิดอาการเช่นนี้ โดยรูปแบบของอาการปวดหัวนั้นสามารถแบ่งออกเป็น 5 รูปแบบใหญ่ๆ คือ
.
🔸1. ปวดศีรษะข้างเดียว
เป็นอาการของโรคไมเกรน โดยอาจเป็นข้างใดข้างหนึ่งสลับกันได้ และมักมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน มีอาการแพ้แสงจ้าหรือเสียงดัง อาการปวดมักเกิดขึ้นนานหลายชั่วโมง หรืออาจยาวนานถึงหลายวัน
.
🔸2. ปวดศีรษะแบบคลัสเตอร์
คืออาการปวดที่รุนแรงมากในบริเวณเบ้าตา ลามไปจนขมับด้านใดด้านหนึ่ง มักจะปวดตุบๆ เป็นชุดๆ ในเวลาที่แน่นอน โดยการปวดจะกินเวลานานหลายสัปดาห์ หรือเป็นเดือน อาการนี้มักพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง
.
🔸3. ปวดศีรษะทั้งสองข้าง
มักเกิดจากความเครียดเป็นครั้งคราว และมักเป็นๆ หายๆ หรือปวดตั้งแต่ 30 นาทีขึ้นไปจนไปถึงหลายวัน มักพบร่วมกับการปวดไมเกรน หากมีอาการปวดมากกว่า 1-3 เดือนจะถือว่าเป็นการปวดศีรษะจากความเครียดแบบเรื้อรัง
.
🔸4. ปวดศีรษะจากไซนัส
มักมีอาการปวดบริเวณหน้าผาก สันจมูก โหนกแก้ม โดยจะปวดรุนแรงยิ่งขึ้นเมื่อก้มตัวหรือก้มศีรษะลง และมักมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น น้ำมูกไหล มีไข้ หรือใบหน้าบวม
.
🔸5. ปวดศีรษะจากเนื้องอกในสมอง
มีอาการปวดแบบเป็นๆ หายๆ และจะทวีความรุนแรงขึ้นในตอนกลางคืนจนมักตื่นขึ้นมากลางดึก อาการจะกำเริบตอนเคลื่อนไหวร่างกาย และมักมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ทรงตัวลำบาก สายตาพร่ามัว ไม่มีสมาธิ
.
ปวดหัวแบบไหนที่ต้องไปพบแพทย์ทันที
+ปวดจนสะดุ้งตื่นกลางดึก
+ปวดต่อเนื่องและอาการไม่ดีขึ้นภายใน 3 วัน
+ปวดถี่ขึ้นหรือปวดรุนแรงกว่าเดิมเรื่อยๆ
+ปวดผิดปกติไปจากเดิม เช่น กินยาตัวเดิมแล้วไม่หายทั้งที่เคยกินแล้วหาย
+ปวดหลังจากเกิดอุบัติเหตุบริเวณศีรษะ เพราะอาจเป็นอาการของเลือดออกในสมอง
+ปวดมากร่วมกับตาแดง ปวดตามาก ตาพร่ามัว ซึ่งอาจเป็นอาการของต้อหิน
+ปวดมากและมีอาการผิดปกติอื่นๆ ร่วม เช่น คลื่นไส้อาเจียน แขนขาอ่อนแรง พูดไม่ชัด หน้าหรือปากเบี้ยว ปวดเฉียบพลันร่วมกับคอแข็ง และ/หรือมีไข้สูง
.
จะเห็นได้ว่าอาการปวดหัวมีสาเหตุและความรุนแรงที่แตกต่างกันไป การรับมือจึงต้องอาศัยความรอบคอบ แม้ส่วนใหญ่ไม่ได้มีสาเหตุที่ร้ายแรงและบรรเทาเองได้ เช่น กินยาแก้ปวดกลุ่มพาราเซตามอล หรือยาแก้ปวดลดอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ การประคบเย็นในบริเวณที่ปวด หรือประคบอุ่นในกรณีที่เป็นไซนัสอักเสบ การนวดหรือกดคลึงบริเวณที่กล้ามเนื้อตึงตัว นอกจากนี้ก็ควรหยุดดื่มสุราและสูบบุหรี่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ และพยายามไม่เครียดกับปัญหารอบตัวจนเกินไป ก็จะช่วยป้องกันอาการปวดหัวไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำได้ค่ะ