‘ผู้ชาย’ ก็เป็น ‘วัยทอง’ ได้ . เมื่ออายุคนเราเพิ่มขึ้นถึงวัยที่ร่างกายเริ่มเสื่…

‘ผู้ชาย’ ก็เป็น ‘วัยทอง’ ได้
.
เมื่ออายุคนเราเพิ่มขึ้นถึงวัยที่ร่างกายเริ่มเสื่อมถอยลงอย่างสังเกตเห็นได้ สิ่งหนึ่งที่จะเกิดขึ้นคือการลดลงของฮอร์โมนเพศและตามมาด้วยภาวะวัยทอง เราคงเคยได้ยินอาการวัยทองในผู้หญิง ซึ่งหมายถึงผู้หญิงที่เข้าสู่วัยหมดประจำเดือน (Menopause) มาแล้วว่า ส่งผลทั้งต่ออาการทางร่างกายและพฤติกรรมที่อาจมีอารมณ์แปรปรวนอ่อนไหวกว่าปกติ ในผู้ชายนั้นภาวะในทำนองเดียวกันนี้ก็เกิดขึ้นได้เช่นกัน แต่มักจะมีอาการไม่ชัดเจนเท่าผู้หญิง
.
ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone) เป็นฮอร์โมนเพศที่สำคัญที่สุดของผู้ชาย มีหน้าที่สำคัญในการกระตุ้นให้แสดงลักษณะความเป็นชาย เช่น เสียงทุ้ม มีมวลกล้ามเนื้อ มีเส้นขนตามร่างกาย เป็นต้น
.
แอนโดรพอส (Andropause) หรือวัยทองในผู้ชาย คือ สภาวะที่เชื่อมโยงกับการลดลงของฮอร์โมนเพศชายเทสโทสเตอโรน และฮอร์โมนอื่นๆ โดยทั่วไปฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนจะค่อยๆ ลดลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปปีละประมาณ 1% ตั้งแต่ช่วงอายุประมาณ 30-40 ปีเป็นต้นไป
.
แล้วบ่อยครั้งที่ระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนตกต่ำในชายสูงวัยสังเกตได้ไม่ง่าย โดยจะสามารถตรวจได้จากการตรวจเลือด โดยเฉลี่ยแล้วผู้ชายจำนวนประมาณ 30% ในช่วงอายุ 50 ปี จะประสบกับอาการวัยทอง ซึ่งอาการเหล่านี้ได้แก่
– ความต้องการและกิจกรรมทางเพศลดลง
– มีปัญหาการแข็งตัวของอวัยวะเพศ
– พลังงานลดลง
– ความแข็งแรงลดลง กล้ามเนื้อลดลง
– หดหู่ซึมเศร้า แรงจูงใจลดลง
– อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดโกรธง่าย
– ไขมันร่างกายสูงขึ้น
– เกิดภาวะมีบุตรยาก
– นอนไม่หลับ หลับยาก
– ร้อนวูบวาบ เหงื่อออก
– เต้านมโตในผู้ชาย
– ความสูงลดลง
– เสี่ยงเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคกระดูกพรุน
.
การตรวจวินิจฉัยแนะนำให้ทำเมื่อมีอาการวัยทองเกิดขึ้นเท่านั้น แพทย์จะทำการทดสอบหลายอย่างรวมถึงการตรวจเลือด อาการวัยทองของผู้ชายนี้เป็นอาการที่ไม่ได้เกิดเฉพาะกับคนที่มีภาวะวัยทองเท่านั้น อาการเดียวกันนี้อาจจะเกิดได้จากความสูงวัย การใช้ยาบางประเภท คนที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์ เป็นต้น แพทย์จึงต้องทำการวินิจฉัยโดยละเอียดรอบคอบว่าอาการที่เกิดขึ้นนั้นมีสาเหตุมาจากภาวะวัยทองหรือไม่
.
การรักษาโดยทั่วไปจะเป็นการแนะนำให้คนไข้ปรับรูปแบบการใช้ชีวิตให้เป็นแบบรักษาสุขภาพตนเองมากขึ้น แพทย์อาจแนะนำให้ กินอาหารที่ดีมีประโยชน์ขึ้น ออกกำลังกายสม่ำเสมอ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และลดความเครียดลง
.
การรักษาอีกรูปแบบหนึ่งจะเป็นการใช้ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนทดแทนซึ่งมีหลายรูปแบบ ทั้งแบบแคปซูล เจล แผ่นแปะผิวหนัง การฉีดฮอร์โมนทดแทนเข้าผิวหนัง เป็นต้น แพทย์ผู้รักษาจะให้คำแนะนำรูปแบบที่เหมาะสมกับผู้มีอาการ ยังไงก็ตามการรักษาที่ดีก็ควรทำตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อจะได้ดีต่อสุขภาพของตัวเองมากที่สุด

ติดต่อเรา