อันตรายจาก “เนื้อสัตว์แปรรูป” ที่หลายคนอาจมองข้าม
เนื้อแปรรูป หรือเนื้อที่ผ่านกระบวนการปรุงแต่งมาแล้ว เช่น เบคอน แฮม หรือไส้กรอก อาจจะตอบโจทย์ของใครหลายคน ไม่ว่าจะเป็นด้านการยืดอายุสินค้า หรือรสชาติที่ถูกปาก แต่ทราบหรือไม่คะ ว่าถึงแม้จะอร่อยแค่ไหน แต่จริงๆ แล้วเนื้อแปรรูปยังแอบแฝงไปด้วยอันตรายต่อสุขภาพที่หลายท่านมองข้ามค่ะ
.
มีงานวิจัยจากมหาวิทยาลัย McMaster ในแคนาดาได้ชี้ว่า การบริโภคเนื้อแปรรูปเพียง 150 กรัม ต่อสัปดาห์ อาจมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด มากกว่าผู้ที่ไม่บริโภคเนื้อแปรรูปเลยถึง 46% นอกจากนี้แล้วการบริโภคเนื้อแปรรูปอย่างต่อเนื่องยังอาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดโรคมะเร็งลำไส้อีกด้วย
.
หลายท่านอ่านมาถึงตรงนี้แล้วคงตั้งข้อสงสัยว่าทำไมเนื้อที่ผ่านการแปรรูป ถึงได้เพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคต่างๆ มากมายขนาดนี้ ซึ่งคำตอบนั้นอยู่ในสารที่ใช้หรือเกิดจากกรรมวิธีของการถนอมอาหารนั่นเองค่ะ
.
โดยสารตัวแรกก็คือ ไนโตรซามีน (Nitrosamine) ซึ่งเกิดจากการที่สารโซเดียมไนไตรต์ (Sodium Nitrite) โดนความร้อนจากการปรุงอาหาร ซึ่งเจ้าสารโซเดียมไนไตรต์ เป็นสารที่ใส่เข้าไปในเนื้อแปรรูป เพื่อช่วยให้เนื้อคงสีชมพูที่น่ารับประทานเอาไว้ นอกจากนี้แล้วยังช่วยหยุดการเจริญเติบโตของแบคทีเรียและลดการเกิดกลิ่นหืนอีกด้วย
.
งานวิจัยชี้ว่าสาร ไนโตรซามีน นั้นอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ และมะเร็งกระเพาะอาหารอีกด้วยค่ะ
.
สารตัวที่ 2 คือ เจ้า PAHs หรือ โพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (Polycyclic Aromatic Hydrocarbons) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งที่ก่อตัวเมื่อฟืน หรือ ถ่านไม้ เกิดการเผาไหม้ ซึ่งเจ้าสารตัวนี้มักพบเจอใน เนื้อรมควัน เนื่องจากควันที่ลอยขึ้นไปถูกเนื้อ จะนำสารตัวนี้ลอยขึ้นไปจับตัวกันอยู่บนเนื้อที่ถูกรมควัน
.
สารตัวสุดท้ายก็คือ Sodium Chloride หรือ ก็คือเกลือทั่วไปในบ้านเรานี่แหละค่ะ โดยเนื้อแปรรูปส่วนมากนั้นมักมีเกลือจำนวนมากเป็นส่วนผสมเพื่อใช้ในการยืดอายุของตัวเนื้อและเพิ่มรสชาติของมันนั่นเองค่ะ ซึ่งมีงานวิจัยหลายงานที่ชี้ว่า การบริโภคเกลือจำนวนมากอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคความดันโลหิตสูงและโรคหัวใจ มิหนำซ้ำมันยังอาจช่วยเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหารอีกด้วย
.
ดังนั้น สำหรับคนที่ชอบทานเนื้อแปรรูปมากๆ ก็ยังคงสามารถทานได้อยู่ แต่ควรลดจำนวนหรือความบ่อยในการบริโภคเนื้อแปรรูปลง เพื่อประโยชน์ต่อสุขภาพในระยะยาวกันด้วยนะคะ