เรื่องไม่เล็กของ ‘ท้องอืด’ อย่าปล่อยไว้นานเสี่ยงสุขภาพพัง! คนส่วนใหญ่มักมีอาการ…

เรื่องไม่เล็กของ ‘ท้องอืด’ อย่าปล่อยไว้นานเสี่ยงสุขภาพพัง!

คนส่วนใหญ่มักมีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกแน่นท้อง หลังการกินอาหาร อาการนี้ดูแล้วอาจไม่เป็นอะไรมากมายนัก แต่หากปล่อยไว้นานๆ จนเป็นอาการเรื้อรังย่อมส่งผลเสียต่อสุขภาพของคุณได้ ทั้งระบบลำไส้ ระบบเผาผลาญ หรือระบบต่างๆ ในร่างกายของคุณ แต่อาการท้องอืดก็มีสาเหตุอื่นนอกจากการกินอาหาร และเป็นสัญญาณเตือนของปัญหาสุขภาพของคุณได้ด้วยเช่นกัน

‘ท้องอืด’ เกิดจากอะไร?
1. โรคลำไส้แปรปรวน (IBS) เป็นกลุ่มโรคที่มีอาการปวดท้อง อึดอัดท้อง ไม่สบายท้อง ขับถ่ายผิดปกติ ท้องผูก ท้องเสีย ท้องอืด
2. แพ้อาหาร บ่อยครั้งการแพ้อาหารทำให้เกิดอาการท้องอืดหรือแก๊สในกระเพาะได้ เช่น ผลิตภัณฑ์จากนม เพราะบางคนระบบย่อยอาหารมีปฏิกิริยากับแลคโตส และเคซีนที่อยู่ในนมอาจทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะได้ อาหารที่มีกลูเตน เช่น ขนมปัง พาสต้า ซีเรียล โดนัท อาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตชนิดสายโมเลกุลสั้น (FODMAPs) ที่ย่อยยากและทำให้ลำไส้เล็กทำงานหนัก เช่น น้ำผึ้ง นม ข้าวสาลี หัวหอม กระเทียม
3. ภาวะจุลินทรีย์ในลำไส้เล็กเจริญเติบโตมากผิดปกติ (SIBO) เกิดจากการสะสมหลังการกินยาปฏิชีวะนะ การอักเสบของร่างกาย การย่อยอาหารไม่ดี เมื่อมีมากเกินไปจะเกิดความเสียหายต่อเยื่อบุกระเพาะอาหาร เกิดปัญหาระบบทางเดินอาหาร
4. ท้องมาน (Ascites) จะมีอาการบวมน้ำในช่องท้อง มีของเหลงในช่องท้องปริมาณมาก ส่งผลให้ปวดท้อง ไม่สบายท้อง ท้องอืดได้ อาการท้องมานก็เป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพที่รุนแรงมากขึ้น เช่น การติดเชื้อในช่องท้อง โรคตับ โรคมะเร็ง
5. ท้องผูก เป็นสาเหตุที่ชัดเจนที่สุดของอาการท้องอืด เพราะการท้องผูกทำให้อุจจาระตกค้างในลำไส้ ทำให้รู้สึกปวดท้อง ท้องอืด ไม่สบายตัว อึดอัดท้อง หากท้องผูกไปนานอาจก่อให้เกิดโรคริดสีดวงทวาร หากท้องผูกเรื้อรังก่อเกิดลำไส้อุดตันได้
6. ลำไส้อุดตัน บางครั้งท้องอืด ท้องผูก มักเกิดจากลำไส้อุดตัน ที่เป็นภาวะการบีบตัวของลำไส้มีสิ่งอุดตันทำให้อาหารหรือของเหลวไม่สามารถเคลื่อนผ่านได้ ส่งผลให้ปวดท้อง ท้องอืด คลื่นไส้ อาเจียนได้
7. ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง อย่างที่ทราบกันว่า PMS (Premenstrual Syndrome) เป็นกลุ่มอาการที่เกิดขึ้นก่อนมีประจำเดือนจะทำให้เกิดปัญหาระบบทางเดินอาหาร มีอาการท้องอืด ท้องผูก ท้องเสีย เพราะเป็นช่วงที่ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) และฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) เพิ่มขึ้นมากกว่าปกติ
8. มะเร็ง อาการท้องอืดเป็นสัญญาณหนึ่งของมะเร็งลำไส้หรือมะเร็งมดลูก หากได้ลองแก้ปัญหาท้องอืดไปแล้ว แต่อาการไม่ดีขึ้นและไม่รู้สาเหตุที่แน่นอน ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพอย่างละเอียด

อาหารที่ช่วยต่อสู้กับอาการท้องอืด
วิธีแก้ปัญหาท้องอืดที่มีประสิทธิภาพวิธีหนึ่งก็คือ การทำอาหารกินเอง เพื่อควบคุมปริมาณอาหาร อาหารไม่ผ่านการปรุงแต่งมากนัก การกินอาหารไม่ได้ช่วยเรื่องท้องอืดได้ทั้งหมด แต่ขึ้นอยู่กับไลฟ์สไตล์ของคุณด้วยเช่นกัน
1. โปรไบโอติก โปรไบโอติกเป็นจุลินทรีย์ที่ดีในลำไส้ เป็นมิตรกับทางเดินอาหาร ช่วยฆ่าจุลินทรีย์ที่ไม่ดี อาหารที่มีโปรไบโอติก เช่น กิมจิ เทมเป้ คีเฟอร์ โยเกิร์ต คอมบูชา เป็นต้น หรือคุณก็สามารถหาอาหารเสริมโปรไบโอติกมาทานก็มีประโยชน์เช่นกัน
2. ผลไม้หรือผัก หากเป็นผักผลไม้ที่ให้น้ำมากก็จะให้อิเล็กโทรไลต์ (Electrolytes) ที่ดีต่อร่างกาย และมีเอนไซม์ที่เป็นประโชยน์ต่อทางเดินอาหาร ซึ่งเป็นเพื่อนที่ดีต่อทางเดินอาหารจะช่วยบรรเทาอาการท้องอืด เช่น ขึ้นฉ่าย ยี่หร่า แตงกวา อาร์ติโชค ผักโขม แตงโม เบอร์รี่ กล้วยหอม ส้ม เป็นต้น
3. สมุนไพร เครื่องเทศ ชา เช่น ขิง ยี่หร่า ผักชีฝรั่ง ขมิ้น สะระแหน่ กระชาย โรสแมรี่ จะช่วยบรรเทาอาหารท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องผูกได้ นอกจากนี้ชาเขียวยังช่วยต้านการอักเสบได้อีกด้วย

แม้บางคนจะคิดว่าท้องอืดไม่ได้เป็นอาการที่รุนแรง เป็นไม่นานก็หาย แต่หากคุณยังปล่อยให้ท้องอืดต่อไปเรื่อยๆ โดยไม่รักษา อาจลุกลามก่อให้เกิดโรคต่างๆ ตามมาได้ ทั้งมะเร็ง โรคตับ ลำไส้อุดตัน อย่างไรก็อย่าละเลยอาการท้องอืดจนสุขภาพพังกันนะคะ ใส่ใจอาการท้องอืดกันซักนิด เพื่อชีวิตและร่างกายที่แข็งแรงกันค่ะ : )

ติดต่อเรา