10 อาหารควรเลี่ยง หากไม่อยาก ‘ท้องเสีย’ ตอนเดินทางช่วง ‘สงกรานต์’ ช่วงเทศกาลสง…

10 อาหารควรเลี่ยง หากไม่อยาก ‘ท้องเสีย’ ตอนเดินทางช่วง ‘สงกรานต์’

ช่วงเทศกาลสงกรานต์เป็นช่วงที่คนส่วนใหญ่เดินทางเพื่อกลับไปหาครอบครัว เพื่อใช้เวลากับคนที่รัก อาจเดินทางทั้งระยะใกล้หรือระยะไกล ซึ่งก็ใช้เวลาการเดินทางที่ต่างกัน แต่ยังไงก็ตามเมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นการเดินทางแล้ว คงไม่มีใครอยากมีปัญหาในเรื่องของสุขภาพการขับถ่ายก่อนการเดินทางหรือระหว่างทางอย่างแน่นอน

ปัญหาการขับถ่ายที่คนส่วนใหญ่ไม่อยากเจอในการเดินทาง นั่นคือ ‘ท้องเสีย’ ซึ่งอาการท้องเสียนอกจากจะทำให้เราหมดแรง อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน ไม่สดชื่นแล้ว ยังต้องเข้าห้องน้ำบ่อยครั้งอีกด้วย จึงทำให้การเดินทางของเรามีปัญหาได้ เพราะท้องเสียในการเดินทางไม่ใช่เรื่องสนุกเลย ดังนั้นหากอยากป้องกันการท้องเสียในการเดินทาง ควรหลีกเลี่ยงอาหารเหล่านี้ได้จะดีกว่า
.
อาหารรสเผ็ด เป็นสาเหตุหลักที่พบได้บ่อยที่สุดของการท้องเสีย เพราะบางครั้งในอาหารอาจมีการใช้เครื่องเทศแรงๆ มีความเผ็ดร้อนต่อกระเพาะที่ร่างกายไม่คุ้นเคย โดยเฉพาะ ‘สารแคปไซซิน (capsaicin)’ ในพริกที่ให้ความเผ็ดร้อน ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อกระเพาะอาหารได้ง่าย เกิดท้องเสีย แสบร้อนท้องตามมาได้
.
สารทดแทนความหวาน สารให้ความหวานเทียม เช่น แอสปาร์แตม ซูคราโลส แซคคาริน และน้ำตาลแอลกอฮอล์ เช่น แมนนิททอล ซอร์บิทอล ไซลิทอล ซึ่งสารทดแทนความหวานบางชนิดทำให้ระบบย่อยอาหารทำงานแย่ลง บางชนิดก็มีฤทธิ์เป็นยาระบาย โดยเฉพาะสารให้ความหวานที่เป็นน้ำตาลแอลกอฮอล์ (sugar alcohol) อาจทำให้ท้องเสียหรือเกิดแก๊สในกระเพาะอาหารได้ ควรดูฉลากหรือคำเตือนก่อนการบริโภค
.
ผลิตภัณฑ์จากนม หากมีการถ่ายท้องหลังจากดื่มนมหรือผลิตภัณฑ์จากนม แสดงว่า อาจจะแพ้แลคโตส ซึ่งการแพ้แลคโตสคือการที่ร่างกายของเราไม่มีเอ็นไซม์ที่จะสลายน้ำตาลบางชนิดในนม แทนที่ร่างกายจะค่อยๆ สลายน้ำตาลนั้นไป แต่กลายเป็นว่าร่างกายจะจำกัดน้ำตาลเหล่านั้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งมักจะอยู่ในรูปแบบของการท้องเสียนั่นเอง
.
กาแฟ คาเฟอีนในกาแฟเป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้รู้สึกตื่นตัวทางจิตใจและกระตุ้นระบบย่อยอาหาร จึงทำให้บางคนมีอาการท้องไส้แปรปรวนหลังจากดื่มกาแฟ แล้วในบางคนมีการเพิ่มสารทดแทนความหวาน เติมนม ครีมเทียมลงไปในกาแฟยิ่งเพิ่มฤทธิ์ของยาระบายจึงเกิดเป็นอาการท้องเสียตามมา
.
อาหารที่มีคาเฟอีน นอกจากกาแฟแล้วยังมีเครื่องดื่มอื่นๆ ที่มีคาเฟอีนด้วย เนื่องจากคาเฟอีนจะไปกระตุ้นระบบย่อยอาหารทำให้เกิดท้องเสีย เช่น ช็อกโกแลต โคล่า น้ำโซดา ชาเขียว เครื่องดื่มชูกำลัง เป็นต้น
.
ฟรุกโตส (Fructose) ฟลุกโตส คือ น้ำตาลธรรมชาติที่พบได้ในผลไม้ หากกินมากไปก็มีฤทธิ์เป็นยาระบาย ซึ่งหากกินผลไม้มากก็อาจทำให้ท้องเสียได้ เพราะเหมือนเป็นการกินน้ำตาลฟลุกโตสในปริมาณสูงนั่นเอง
.
กระเทียมและหัวหอม กระเทียมหรือหัวหอมเป็นฟรุกแทน (Fructan) ซึ่งเป็นคาร์โบไฮเดรตที่ร่างกายย่อยยาก มีเส้นใยที่ไม่สะลายน้ำจึงทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะอาหารมากและเกิดท้องเสียได้
.
บร็อคโคลี่และกะหล่ำดอก เป็นอาหารที่อุดมไปด้วยเส้นใยอาหารจำนวนมาก มีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่หากร่างกายไม่คุ้นชินกับการกินอาหารที่มีไฟเบอร์ในปริมาณสูงแล้วอาจทำให้ท้องเสีย ท้องผูก มีแก๊สในกระเพาะอาหารได้ ควรค่อยๆ เพิ่มปริมาณอาหารที่มีไฟเบอร์สูงเข้าไปในร่างกายอย่างช้าๆ เพื่อให้ระบบย่อยอาหารได้ปรับตัวและคุ้นชิน
.
อาหารฟาสต์ฟู้ด (Fast food) เป็นอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์มาก อาหารเหล่านี้อาจทำให้ท้องเสียหรือทำให้อาการท้องเสียแย่ลงได้ เพราะร่างกายมีปัญหาในการย่อยอาหาร และอาหารเหล่านี้มีคุณค่าทางโภชนาการน้อย ย่อยยาก ไม่ดีต่อสุขภาพด้วย
.
แอลกอฮอล์ การดื่มแอลกอฮอล์อาจทำให้ถ่ายท้องได้ โดยเฉพาะการดื่มเบียร์หรือไวน์ ควรงดการดื่มแอลกอฮอล์เพื่อลดความรู้สึกไม่สบายท้องหรือลดความเสี่ยงการเกิดท้องเสีย
.
ในการเดินทางไกลในครั้งนี้อย่างไรก็ควรระมัดระวังอาหารที่จะรับประทาน เพื่อป้องกันท้องเสียที่อาจจะเกิดขึ้น เพราะการท้องเสียระหว่างเดินทางไม่ใช่เรื่องสนุก และหากมีอาการท้องเสียอย่างรุนแรง ช่วงเทศกาลที่อยากกลับไปหาครอบครัวก็อาจจะไม่ได้เดินทางไปหาครอบครัวได้ อย่างไรก็อย่าลืมดูแลสุขภาพของตัวเองและคนรอบข้าง เพื่อที่จะได้ใช้ช่วงเวลาที่มีความสุขกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตากันนะคะ : )
.

ติดต่อเรา