6 อุบัติเหตุของผู้สูงวัย ที่เราควรป้องกันและเฝ้าระวัง!
เมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ ประสาทสัมผัสและความว่องไวในการตอบโต้สิ่งเร้าก็จะลดลง ไม่ว่าจะเป็นการทรงตัว การได้ยิน หรือการมองเห็น อีกทั้งความเสื่อมถอยของร่างกาย เช่น ข้อเสื่อม ข้อต่อ กล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือกระดูกบาง ก็ยิ่งทำให้เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงภายในบ้านได้ง่ายขึ้น
.
ดังนั้น คนในครอบครัวจึงควรช่วยกันเฝ้าระวังและป้องกัน เพื่อลดความเสี่ยงและความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้ค่ะ โดยเราได้รวบรวมแนวทางป้องกันอุบัติเหตุต่างๆ ภายในบ้านที่มักเกิดกับผู้สูงอายุอยู่บ่อยๆ เอาไว้ดังนี้ค่ะ
.
สะดุดล้ม
ผู้สูงวัยส่วนใหญ่มักมีภาวะกระดูกบางหรือพรุนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว การหกล้มจึงเป็นเรื่องอันตรายมากค่ะ ดังนั้น ภายในบ้านจึงไม่ควรให้มีทางต่างระดับ หรือธรณีประตูสูงๆ กั้นระหว่างห้อง และหมั่นจัดสิ่งของให้เรียบร้อย อย่าให้มีอะไรมาขวางทางเดิน หลีกเลี่ยงการพาดสายไฟเกะกะตามพื้น และติดตั้งสวิทช์ไฟไว้ใกล้ประตู เพื่อให้ผู้สูงอายุสะดวกต่อการเปิดปิดไฟก่อนเข้าห้องค่ะ
.
ตกบันได
หากเป็นไปได้ควรจัดให้ผู้สูงอายุพักในชั้นล่าง เพื่อที่จะได้ไม่ต้องขึ้นลงบันไดบ่อยๆ แต่หากจำเป็นต้องขึ้นลงบันได ก็ควรมีความกว้างยาวเพียงพอและสม่ำเสมอ ไม่สูงชันเกินไป อีกทั้งควรมีสวิตช์เปิด-ปิดไฟทั้งชั้นบนและชั้นล่าง เพื่อให้มีแสงสว่างเพียงพอขณะขึ้นลงบันได
.
พื้นผิวลื่น
พื้นบ้านควรเรียบสม่ำเสมอและไม่ขัดมัน โดยเฉพาะห้องน้ำและห้องครัวควรเป็นวัสดุปูพื้นแบบกันลื่น หรือกระเบื้องชนิดไม่ลื่น หรือจะติดตั้งแผ่นกันลื่นเอาไว้ก็ได้ค่ะ พรมเช็ดเท้าควรรองด้วยแผ่นยางกันลื่นอีกชั้นเพื่อเพิ่มความฝืด และภายในห้องน้ำควรทำราวจับสำหรับลุกขึ้นยืน หากพื้นบ้านเปียกแฉะควรรีบเช็ดให้แห้งทันที และไม่ควรให้ใช้รองเท้ายางที่หมดอายุ เพราะพื้นรองเท้าจะลื่นและไม่เกาะพื้นผิวค่ะ
.
อาหารติดคอ
ควรเน้นทานอาหารที่ย่อยง่าย อ่อนนุ่ม เพื่อให้กลืนได้ง่าย เตือนให้ทานช้าๆ และพอดีคำ ไม่พูดคุยขณะกำลังเคี้ยวอาหารเพราะอาจเสี่ยงอาหารติดคอได้ แต่หากอาหารติดคอก็ไม่ควรใช้วิธีกลืนข้าวนะคะ เพราะเป็นวิธีที่อันตรายมาก ให้ลองกระแอมหรือไอเบาๆ ก่อนพยายามกลืนใหม่อีกครั้ง จากนั้นให้ดื่มน้ำตาม แต่หากอาหารยังติดคอไม่หาย ก็ควรไปพบแพทย์ หรือหากเกิดกรณีฉุกเฉินให้รีบแจ้ง 1669 และปฐมพยาบาลอย่างถูกต้องโดยด่วนนะคะ
.
ทานยาผิด
ผู้สูงอายุมักมีปัญหาสุขภาพและต้องทานยาหลายรายการ อีกทั้งมีสายตาและความจำที่แย่ลง จึงเสี่ยงต่อการทานยาผิดได้ง่าย เช่น อ่านฉลากผิด ทานผิดวิธี ทานผิดเวลา ลืมทาน ทานไม่ครบ เราจึงควรมีผู้ดูแลคอยจัดยาให้เพื่อให้มั่นใจว่าผู้สูงอายุสามารถใช้ยาได้อย่างถูกต้อง ฉลากยาควรเขียนชื่อใหม่ให้ตัวโตๆ เพื่อให้มองเห็นชัดขึ้น หรือจะใช้กล่องใส่ยาที่ระบุวันเวลาทานอย่างชัดเจนได้ก็ดีค่ะ
.
ชนขอบเฟอร์นิเจอร์
เฟอร์นิเจอร์ในบ้านควรเลือกใช้แบบที่มีขอบโครงมนและไม่มีแหลมคม เตียงควรมีความสูงไม่เกินในระดับที่นั่งแล้วสามารถวางเท้าแนบกับพื้นได้ และเก้าอี้ควรมีพนักพิงและที่วางแขน เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถใช้ดันตัวลุกขึ้นยืนได้ ส่วนชั้นวางของในบ้านก็ไม่ควรอยู่สูงเกินไป สามารถหยิบใช้ของได้โดยไม่ต้องเอื้อมหรือปีนเก้าอี้
.
นอกจากนี้ก็ยังมีอุบัติเหตุอื่นๆ ทั่วไปที่ผู้สูงอายุและคนในบ้านอาจเกิดอุบัติเหตุได้ง่ายในชีวิตประจำวัน เช่น ถูกของมีคมบาด ไฟช๊อต หรือน้ำร้อนลวก เราจึงควรมีชุดยาสามัญประจำบ้านและอุปกรณ์ทำแผลในบ้านเสมอ เพื่อจะได้ปฐมพยาบาลได้ทันท่วงที และควรหมั่นตรวจตราข้าวของเครื่องใช้และบ้านเรือนให้อยู่ในสภาพดีอยู่เสมอ จะได้ไม่เสี่ยงอุบัติเหตุนะคะ
.
สนใจสินค้าสุขภาพที่คุณหมอพูดถึง สามารถสั่งซื้อได้ทาง
💬 Inbox: m.me/drcanthelp
✅ Line Shopping : https://lin.ee/tpmtgGI
หรือ
✅Line@ของคลีนิค https://lin.ee/piE9kvf
——————————-
ติดตามความรู้เรื่องสุขภาพ และวิธีการดูแลสุขภาพได้ที่
📌 เพจ : อย่าฝากชีวิตไว้กับหมอ
📌 Youtube : https://youtube.com/c/อย่าฝากชีวิตไว้กับหมอ
📌 IG : dr.cant.help