ข้อติด ข้อบวม ขยับข้อยาก สัญญาณอันตรายที่ต้องระวัง!

เมื่อพูดคำว่า “ปวดข้อ” แล้ว ในหลายๆ คนมักคิดว่าเป็นอาการของคนแก่ แต่จริงๆแล้วการปวดข้อสามารถเกิดได้กับทุกเพศทุกวัยอาจเนื่องมาจากพฤติกรรมการดำเนินชีวิตของแต่ละคน การใช้งานเข่ามากเกินไป การเล่นกีฬาที่มีการปะทะที่เข่ารุนแรง การออกกำลังกายที่ไม่เหมาะสม ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดหรือกระดูกเสื่อมก่อนวัยอันควรได้ ในวันนี้เราจะมาพูดคุยกันถึงเรื่อง “โรคข้อเสื่อม” ซึ่งเป็นโรคที่เราอย่าละเลย ควรให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับคนที่อายุมาก โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ซึ่งเกิดจากการที่ใช้งานของกระดูกและข้อเข่ามาเป็นระยะเวลานานจึงทำให้เกิดปัญหาข้อเสื่อมนั่นเอง

article of ข้อติด ข้อบวม ขยับข้อยาก สัญญาณอันตรายที่ต้องระวัง!

โรคข้อเสื่อม

เกิดจากความเสื่อมของกระดูกอ่อนบริเวณผิวของข้อเสื่อมสภาพหรือถูกทำลาย ทำให้บริเวณของข้อต่อเกิดการเสียดสีกันจนเนื้อของกระดูกเสื่อมสภาพ จนไม่สามารถสร้างหรือซ่อมแซมได้ทันจึงทำให้กระดูกอ่อนสึกกร่อนไป เวลาเดิน นั่ง หรือยืนนานๆ ก็จะเกิดอาการปวดข้อ แล้วเมื่อกระดูกอ่อนสึกกร่อนเป็นวงกว้างก็จะทำให้ไม่สามารถรับน้ำหนักหรือแรงกระแทกต่างๆ ได้ ยิ่งถ้าผิวข้อมีการสึกกร่อนมากจนไปถึงเนื้อของกระดูกใต้ผิวข้อต่อแล้วก็จะทำให้เกิดอาการอักเสบ และเจ็บปวดอย่างรุนแรงจนส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันได้

สัญญาณอันตรายของโรคข้อเสื่อม

  • ปวดตามข้อต่างๆ (โดยเฉพาะข้อเข่า มีอาการปวดมากเมื่อเหยียดขา หรือลุกขึ้นยืนหลังจากที่นั่งหรืองอเข่าเป็นเวลานาน)
  • ได้ยินเสียงลั่น ดังกรอบแกรบในข้อ ตอนเคลื่อนไหวหรือเปลี่ยนท่า
  • ข้อติด ขยับข้อได้ยาก เหยียดหรืองอเข่าได้ไม่สุด (โดยเฉพาะช่วงเวลาเช้าและหลังตื่นนอน หรือเมื่อหยุดเคลื่อนไหวเป็นเวลานาน)
  • มีอาการปวดข้อ ข้อบวม ข้อโก่งงอผิดรูปร่าง นิ้วล็อค
  • เข่าบวมแดงหรือโต มีน้ำภายในข้อเกิดจากการอักเสบ

 ใครบ้าง? มีความเสี่ยงเป็นข้อเสื่อม

  • อายุ  เมื่อมีอายุมากขึ้นจะยิ่งมีโอกาสเป็นมากขึ้น เนื่องจากใช้งานข้อเข่าเป็นเวลานาน มักพบในคนอายุ 40 ปีขึ้นไป
  • เพศ เพศหญิงจะเป็นโรคเข่าเสื่อมมากกว่าเพศชาย 2 เท่า อาจเกี่ยวข้องกับการทำงานของระบบต่อมไร้ท่อของร่างกาย
  • น้ำหนัก น้ำหนักตัวมีความสัมพันธ์อย่างมากกับข้อเข่าเสื่อม ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก มีโอกาสข้อเข่าเสื่อมได้มากกว่า ขณะเดียวกันเซลล์ไขมันที่มากเกินไปจะมีผลต่อเซลล์กระดูกอ่อนและเซลล์กระดูกส่งผลให้ข้อเสื่อมเร็วขึ้น
  • พฤติกรรม โดยการใช้งาน ท่าทาง กิจกรรมที่มีแรงกดต่อข้อเข่ามากเกินไป เช่น การนั่งยอง การนั่งคุกเข่า การนั่งขัดสมาธิ การนั่งพับเพียบเป็นเวลานาน การขึ้นลงบันไดบ่อย ๆ เป็นต้น
  • เล่นกีฬาที่มีการปะทะ ส่วนมากมักเกิดการปะทะบริเวณหัวเข่า ทำให้หัวเข่าบาดเจ็บ เป็นเหตุให้ข้อเข่าเสื่อมเร็วขึ้น
  • ออกกำลังกายที่ใช้งานเข่าหรือมีแรงกระแทกมากจนเกินไป เช่น กระโดดเชือก บาสเกตบอล เป็นต้น ทางที่ดีควรออกกำลังกายที่มีการกระแทกน้อยๆ เพื่อถนอมการใช้งานข้อเข่า ควรเลี่ยงการออกกำลังกายที่ต้องกระโดดจะดีที่สุด
  • อุบัติเหตุ บางคนประสบอุบัติเหตุที่เกิดจากการกระแทกที่ข้อเข่า กระดูกข้อเข่าแตก เอ็นฉีก  
  • เกิดจากโรคข้ออักเสบชนิดอื่นๆ เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคเกาต์ เป็นต้น

โรคข้อเสื่อมรักษาอย่างไร

ในการรักษาโรคข้อเสื่อมจะมีการรักษาอยู่หลายวิธีแล้วแต่อาการของโรค ซึ่งจะมีเป้าหมายเพื่อลดอาการปวดข้อเข่า ฟื้นฟูการทำงานของข้อเข่า ป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างเป็นปกติ โดยจะมีการรักษาดังนี้

การรักษาโดยใช้ยา โดยจะมีการรักษาให้ทานยาตามอาการของโรค หรือการใช้ยาทาภายนอกที่เหมาะสมกับอาการของแต่ละคน เช่น รักษาด้วยยาแก้ปวด ยาลดการอักเสบ ยากลุ่มสารอาหารเสริมสร้างกระดูก ยาช่วยปรับเปลี่ยนโครงสร้างของข้อ ยาทาภายนอก การฉีดน้ำเลี้ยงไขข้อ เป็นต้น

การรักษาโดยไม่ใช้ยา โดยการลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่จะทำให้อาการข้อเสื่อมลุกลาม ดังนี้

–  การลดน้ำหนัก การมีน้ำหนักเยอะเกินไปจะทำให้ข้อเข่าเสื่อมได้ง่าย ถ้าลดน้ำหนักลงได้จะทำให้น้ำหนักที่เข่าต้องรับลดลง

–  การออกกำลังกายที่พอดี โดยเน้นบริหารกล้ามเนื้อรอบข้อเข่า แต่ไม่ควรออกกำลังกายมากเกินไป หรือเล่นกีฬาที่ใช้แรงปะทะ อาจทำให้เข่ารับน้ำหนักมากเสี่ยงต่อข้อเข่าเสื่อมได้

–  การทำกายภาพบำบัดบริเวณรอบข้อที่ปวด ประคบร้อน เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดได้

–  การใช้อุปกรณ์ช่วยเดินต่างๆ เช่น ไม้เท้า ไม้สามขา ใช้สนับเข่า ทำให้เข่ารับน้ำหนักน้อยลง และเสริมสร้างความมั่นคงให้กับข้อเข่า

–  เลี่ยงท่านั่งที่ต้องงอเข่ามากๆ เช่น การนั่งยอง การนั่งขัดสมาธิ การนั่งพับเพียบ การนั่งคุกเข่า เพราะจะทำให้เข่าอักเสบได้ง่าย

–  เลี่ยงการขึ้นลงบันไดหากไม่จำเป็น แต่ถ้าต้องใช้บันไดเวลาขึ้นลงควรจับราวบันได้ไว้ และค่อยๆ ขึ้นลงทีละขั้น ไม่ต้องรีบร้อน

–  จัดบริเวณบ้านให้โล่งโปร่งสบาย ไม่มีสิ่งกีดขวางบนทางเดิน ในห้องน้ำควรใช้สุขภัณฑ์เป็นแบบชักโครก เลี่ยงสุขภัณฑ์แบบนั่งยอง

– ไม่ยกของหรือแบกของหนักจนเกินไป เลี่ยงการทำงานที่ต้องใช้งานเข่าต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน ควรพักระหว่างการทำงานบ้าง แล้วควรสลับไปทำงานที่ใช้เข่าน้อยลง  

ติดตามความรู้เรื่องสุขภาพ และวิธีการดูแลสุขภาพได้ที่
Facebook Page: อย่าฝากชีวิตไว้กับหมอ
Youtube : อย่าฝากชีวิตไว้กับหมอ
IG : dr.cant.help
LINE : Add เป็นเพื่อนผ่าน QR Code หรือค้นหา @bluphama

สามารถมาพูดคุยกับสมาชิก และคุณหมอได้ในกลุ่มเฟซบุ้คของเราได้เลยค่ะ
Group by อย่าฝากชีวิตไว้กับหมอ

ติดต่อเรา