หัวหอม วัตถุดิบคู่ครัวที่มีสรรพคุณทางยา . “หัวหอม” ไม่ว่าจะเป็นหอมแดงหรือหอมใ…

หัวหอม 🧅
วัตถุดิบคู่ครัวที่มีสรรพคุณทางยา
.
🧄 🧅“หัวหอม” ไม่ว่าจะเป็นหอมแดงหรือหอมใหญ่ต่างก็เป็นวัตถุดิบคู่ครัวที่ช่วยเพิ่มรสชาติและกลิ่นหอมของอาหารที่หลายบ้านต้องมีติดครัวไว้เสมอ อีกทั้งยังอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุสำคัญที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็น วิตามินบี 6 วิตามินซี โพแทสเซียม ฟอสฟอรัส แมงกานีส โมลิบดีนัม โครเมียม ทองแดง และเส้นใยอาหารเป็นจำนวนมาก จึงมีคุณสมบัติที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายหลายอย่างดังนี้ค่ะ
.
1️⃣ ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด
👉 หัวหอมอุดมไปด้วยสารประกอบประเภทกำมะถัน ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดกลิ่นฉุนและมีประโยชน์ต่อร่างกายในหลายๆ ด้าน และยังมีสารในกลุ่มไบโอฟลาโวนอยด์อย่าง เควอซิทิน (Quercetin) และสารอัลลิน โพรพิล และไดซัลไฟด์ ซึ่งจากการทดลองพบว่า หัวหอมมีคุณสมบัติช่วยลดระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดให้น้อยลงด้วยการเพิ่มปริมาณของอินซูลินให้มากขึ้น
.
2️⃣ ดีต่อระบบเส้นเลือดและหัวใจ
👉 การทานหัวหอมอย่างสม่ำเสมอส่งผลดีต่อการทำงานของระบบเส้นเลือดและหัวใจ เพราะหัวหอมอุดมไปด้วยสารประกอบกำมะถัน โครเมียม และวิตามินบี 6 ที่มีคุณสมบัติช่วยป้องกันโรคหัวใจ ลดปัจจัยเสี่ยงที่นำไปสู่โรคหัวใจ ลดระดับคอเลสเตอรอลและความดันโลหิต ช่วยป้องกันภาวะการสะสมตัวของไขมันที่ผนังเส้นเลือด
.
3️⃣ ดีต่อกระเพาะและลำไส้
👉 หัวหอมประกอบไปด้วยสารฟลาโวนอยด์จำนวนมาก โดยเฉพาะสาร “เควอซิทิน” ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยปกป้องเซลล์ของลำไส้ตรงจากอันตรายที่เกิดจากสารก่อมะเร็ง โดยการย่างเนื้อสัตว์ด้วยหัวหอมจะช่วยลดปริมาณสารก่อมะเร็งที่เกิดจากการที่เนื้อสัตว์ถูกความร้อนจัดได้ และการกินหัวหอมอย่างสม่ำเสมออย่างน้อย 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้
.
4️⃣ ช่วยต้านมะเร็งชนิดต่างๆ
👉 ในบทความทางการแพทย์ที่ตีพิมพ์ใน American Journal Of Clinical Nutrition ได้กล่าวว่าการกินหัวหอมอย่างสม่ำเสมอจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งให้น้อยลงได้ ไม่ว่าจะเป็น มะเร็งช่องปากและคอหอย (84%) มะเร็งหลอดอาหาร (88%) มะเร็งต่อมลูกหมาก (71%) มะเร็งไทรอยด์ (38%) มะเร็งเต้านม (25%) มะเร็งรังไข่ (73%) นอกจากนี้ หัวหอมยังมี “สารแคมพ์เฟอรอล” ซึ่งมีคุณสมบัติในการป้องกันมะเร็งรังไข่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
.
5️⃣ เสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง
👉 บทความทางการแพทย์กล่าวว่า หัวหอมมีส่วนช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูก จากสารประกอบที่ชื่อว่า “GPCS” ซึ่งทำหน้าที่ยับยั้งกระบวนการกำจัดกระดูกของเซลล์สลายกระดูก ซึ่งเป็นภาวะที่เซลล์ของร่างกายทำลายและกำจัดกระดูก ทำให้กระดูกได้รับความเสียหายและอ่อนแอ
.
6️⃣ ต้านแบคทีเรีย ต้านอาการอักเสบ
👉 หัวหอมมีสารประกอบที่ทำหน้าที่ยับยั้งเอนไซม์ Lipoxygenase (LOX) และ Cyclooxygenase (COX) ที่ทำให้เกิดอาการอักเสบ อันได้แก่ อาการปวดและบวมอันเนื่องจากโรคไขข้ออักเสบรูมาตอยด์ อาการหอบหืด นอกจากนี้ หัวหอมยังมีสารไอโซไทโอไซยาเนต สารเควอซิทิน และสารในกลุ่มฟลาโวนอยด์อื่นๆ ที่จะทำงานร่วมกับวิตามินซีในการทำลายแบคทีเรียที่เป็นอันตรายอีกด้วย
.
✅ ความปลอดภัยในการทานหัวหอมเป็นยา
👉 หากเป็นการทานหัวหอมที่เป็นส่วนประกอบในอาหารทั่วไปหรือใช้ทาบนผิวหนังจะค่อนข้างปลอดภัยค่ะ แต่สารซัลเฟอร์ในหัวหอมก็อาจส่งผลให้ลมหายใจมีกลิ่นหรือน้ำตาไหลได้ ส่วนการทานเป็นยารักษาโรค มีงานวิจัยว่าสารสกัดไดฟีนิลอะมีน (Diphenylamine) จากหัวหอม หากได้รับสูงสุดไม่เกินวันละ 35 กรัมก็จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ที่อยู่ในภาวะต่อไปนี้ก็ควรระมัดระวังในการใช้หัวหอมเป็นยารักษาโรคเป็นพิเศษ
.
1. หญิงที่ตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร ควรเลี่ยงทานหัวหอมในปริมาณมากกว่าปกติที่พบได้จากมื้ออาหาร เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลที่ยืนยันอย่างชัดเจนว่าจะไม่เป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์
.
2. ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการมีเลือดออก เพราะหัวหอมอาจมีฤทธิ์ชะลอการแข็งตัวของเลือด จึงอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการมีเลือดออกได้หากทานในปริมาณสูงกว่าปกติ
.
3. ผู้ป่วยโรคเบาหวาน เพราะหัวหอมอาจส่งผลให้ระดับน้ำตาลลดต่ำลงได้หากทานในปริมาณสูงกว่าปกติ ผู้ที่ทานหัวหอมโดยหวังสรรพคุณทางยา จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนและมีการตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอ
.
4. ผู้ที่กำลังเข้ารับการผ่าตัด ควรหยุดใช้หัวหอมเป็นยารักษาโรคอย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนการผ่าตัด เนื่องจากหัวหอมอาจทำให้เสี่ยงต่อการมีเลือดออกหรือการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดในระหว่างหรือหลังกระบวนการผ่าตัดได้
.
5. อาจมีปฏิกิริยากับยารักษาโรคบางชนิด เช่น ยาแอสไพริน ยาลิเทียม ยารักษาโรคเบาหวาน ยาต้านการแข็งตัวของเลือด หรือยาที่ส่งผลต่อตับ เช่น พาราเซตามอล คลอร์ซ็อกซาโซน เอทานอล ทีโอฟิลลีน และยาชาบางชนิด จีงไม่ควรทานเกินกว่าปริมาณปกติในมื้ออาหาร
.
#อย่าฝากชีวิตไว้กับหมอ #Health #Disease #หอมหัวใหญ่ #หอมแดง #หัวหอม

ติดต่อเรา