เป็นตะคริวขณะนอนหลับ (Nocturnal Leg Cramps) ปัญหาสุขภาพที่ไม่ควรมองข้าม . เคยม…

เป็นตะคริวขณะนอนหลับ 😰
(Nocturnal Leg Cramps)
ปัญหาสุขภาพที่ไม่ควรมองข้าม 🚨
.
เคยมีอาการสะดุ้งตื่นขึ้นมากลางดึก เนื่องจากเกิดตะคริวที่ขาขณะนอนหลับกันไหมคะ? อาการเช่นนี้นอกจากจะสร้างความเจ็บปวดแถมส่งผลต่อการนอนหลับแล้ว ก็ยังอาจเป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงความผิดปกติบางอย่างในร่างกายได้อีกด้วยค่ะ
.
🚨 “ตะคริว” คืออะไร?
“ตะคริว” เป็นอาการที่กล้ามเนื้อมีการหดเกร็งอย่างฉับพลัน ปรากฏเป็นก้อนแข็ง และทำให้เกิดความเจ็บปวดบริเวณที่กล้ามเนื้อหดเกร็ง โดยมักจะเกิดบ่อยบริเวณกล้ามเนื้อส่วนน่อง ต้นขาด้านหน้าและหลัง โดยเราเรียกอาการตะคริวที่เกิดขึ้นขณะหลับในช่วงเวลากลางคืนว่า “ตะคริวตอนกลางคืน” (Nocturnal Leg Cramps) ค่ะ
.
🚨 ตะคริวตอนกลางคืนมีสาเหตุมาจากอะไร?
การเกิดตะคริวช่วงกลางดึกอาจมาจากหลายสาเหตุ ซึ่งในปัจจุบันทางวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่แน่นอนได้ค่ะ แต่ก็มีข้อมูลที่แสดงว่าการเกิดตะคริวมีความสัมพันธ์กับสุขภาพของกล้ามเนื้อ การทำงานของเส้นประสาทที่ผิดปกติ และปัญหาการไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อ รวมถึงปัจจัยอื่นๆ ที่อาจส่งผลต่อการเกิดตะคริว ได้แก่:
.
1. การนอนในท่าที่ผิด ทำให้เกิดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อในขณะที่กำลังหลับ
.
2. การนั่งหรือยืนนานๆ โดยไม่เปลี่ยนท่าทางในช่วงกลางวัน
.
3. การใช้กล้ามเนื้อในระดับที่หนักเกินไป เช่น การออกกำลังกายหนักหรือทำกิจกรรมที่ต้องใช้แรงขา
.
4. การขาดความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ ทำให้เกิดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น
.
5. มีภาวะหลอดเลือดแดงแข็งหรือหลอดเลือดตีบตัน ทำให้การไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อทำได้ไม่ดี
.
6. ปัญหาสุขภาพ ทั้งปัญหาที่เกี่ยวข้องกับเส้นประสาท เช่น เส้นประสาททำงานผิดปกติ เส้นประสาทเสื่อมจากโรคเบาหวาน ปลายประสาทอักเสบ โรคพาร์กินสัน และปัญหาที่เกี่ยวข้องกับโรคอื่นๆ เช่น โรคหัวใจ ความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ โรคตับ โรคไต หรือภาวะขาดน้ำ
.
7. ปัญหาของโครงสร้างร่างกาย เช่น เท้าแบน หรือโรคโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ
.
8. ร่างกายอาจขาดแร่ธาตุที่สำคัญที่ช่วยควบคุมการหดและคลายตัวของกล้ามเนื้อ ได้แก่ แคลเซียม โพแทสเซียม แมกนีเซียม ส่งผลให้เกิดตะคริวได้ง่าย
.
🚨 วิธีบรรเทาอาการตะคริวด้วยตนเอง
เราสามารถบรรเทาอาการได้ด้วยตนเองโดยวิธีง่ายๆ ดังนี้
🔘 นวดคลึงกล้ามเนื้อบริเวณที่เป็นตะคริว เพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อคลายตัว
🔘 ยืดกล้ามเนื้อ โดยเหยียดขาตรง แล้วค่อยๆ กระดกข้อเท้าขึ้น ให้ปลายนิ้วเท้าเข้าหาตัว
🔘 ประคบร้อนในบริเวณที่เป็นตะคริว ด้วยกระเป๋าน้ำร้อนหรือผ้าชุบน้ำร้อน หรือประคบเย็นด้วยผ้าเย็นหรือถุงน้ำแข็งที่ห่อด้วยผ้าขนหนูอีกชั้นหนึ่ง
🔘 หรือหากมีอาการปวดมาก ก็สามารถกินยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล หรือยาไอบูโพรเฟน
.
🚨 ตะคริวตอนกลางคืนบ่อยๆ เป็นอันตรายไหม?
ส่วนใหญ่อาการตะคริวตอนกลางคืนมักไม่เป็นอันตราย เช่น อาจเกิดจากการนอนผิดท่าหรือใช้กล้ามเนื้อมากไป แต่หากมีอาการตะคริวบ่อยๆ โดยไม่ทราบสาเหตุ จนส่งผลต่อการนอนหลับและการใช้ชีวิตประจำวัน หรือมีอาการขาบวมแดง ผิวหนังเปลี่ยนไป หรือมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงร่วมด้วย ก็อาจเป็นสัญญาณของโรคร้ายแรงอื่นๆ ซึ่งควรไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษาโดยละเอียดนะคะ
.
🚨 ลดเสี่ยงตะคริวตอนกลางคืนได้อย่างไร?
เนื่องจากอาการตะคริวตอนกลางคืนมักมีสาเหตุมาจากพฤติกรรมเป็นส่วนใหญ่ เราจึงสามารถลดความเสี่ยงได้ด้วยการปรับพฤติกรรมในชีวิตประจำวันดังต่อไปนี้ค่ะ
🔘 ไม่นั่งหรือยืนท่าเดิมนานๆ พยายามลุกขึ้นมายืดเหยียดกล้ามเนื้อบ่อยๆ ในระหว่างวัน
🔘 ในระหว่างวันให้กระดกข้อเท้าขึ้นลงบ่อยๆ เพื่อให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น และช่วยป้องกันกล้ามเนื้อน่องหดตัว
🔘 ควรดื่มน้ำให้เพียงพอ อย่างน้อย 8-10 แก้วต่อวัน เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำซึ่งส่งผลให้เกิดอาการตะคริวได้
🔘 พยายามลดการรับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ
🔘 รับประทานอาหารที่มีแร่ธาตุที่สำคัญต่อการทำงานของกล้ามเนื้อ ได้แก่ อาหารที่มีแคลเซียม เช่น นม ชีส ถั่วเหลือง ปลาตัวเล็ก ผักใบเขียว อาหารที่มีโพแทสเซียม เช่น โกโก้ ลูกพรุน เมล็ดทานตะวัน กล้วย ปลาแซลมอน และอาหารที่มีแมกนีเซียม เช่น กล้วย ถั่วลันเตา ผักโขม ข้าวโพด เมล็ดฟักทอง งา เป็นต้น

หากใครที่มีปัญหาตะคริวตอนกลางคืนบ่อยๆ ก็ลองทำตามคำแนะนำข้างต้นหรือปรึกษาแพทย์ดูนะคะ เพราะช่วงเวลาแห่งการนอนหลับคือสิ่งสำคัญเพื่อให้ร่างกายได้ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ และช่วยให้สมองกลับมาสดชื่นพร้อมทำงานในเช้าวันใหม่ เราจึงควรหลีกเลี่ยงปัจจัยใดๆ ที่ส่งผลต่อการนอนหลับ เพราะหากคุณภาพการนอนเสียไปก็จะส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาวอย่างแน่นอนค่ะ
.
#อย่าฝากชีวิตไว้กับหมอ #Health #ตะคริว #นอนหลับ

ติดต่อเรา