ทำไมน้ำหนักไม่ลดสักที!? 10 ข้อควรระวังของคนลดน้ำหนัก

คุณออกกำลังกายตามแผน กินอาหารตามเป้าได้ทุกวัน แต่จนแล้วจนรอดทำไมน้ำหนักถึงไม่ลดสักทีนะ? ลองเช็คดูค่ะ ว่าคุณกำลังทำพฤติกรรมแบบ 10 ข้อนี้อยู่ใช่หรือไม่ นี่อาจเป็นสาเหตุที่น้ำหนักคุณไม่ยอมลดสักทีก็ได้ค่ะ

1.ตั้งเป้าหมายที่เป็นไปไม่ได้

ลดน้ำหนัก 10 กิโลกรัมใน 1 เดือน หรือ ลดน้ำหนัก 5 กิโลกรัมใน 1 สัปดาห์ เป็นคำค้นหายอดฮิตในกูเกิล และนั่นคือเป้าหมายที่เสียสุขภาพและเป็นไปไม่ได้ ความเร็วในการการลดน้ำหนักที่ดีจะอยู่ที่ 0.5 – 1 กิโลกรัมต่อสัปดาห์ การตั้งเป้าหมายแบบนั้นจะทำให้คุณท้อแท้ทุกครั้งที่ขึ้นชั่งน้ำหนักแล้วยังเห็นเข็มอยู่ที่เดิมทั้งที่มันเพิ่งจะเป็นวันที่สามของการลดน้ำหนัก การตั้งเป้าหมายที่เป็นไปได้และทำได้จริง จะช่วยให้คุณมีกำลังใจมากขึ้นเมื่อถึงเวลาก้าวขึ้นบนตราชั่งในวันที่น้ำหนักของคุณควรจะลด แล้วคุณก็เห็นน้ำหนักของคุณลดจริงๆ 

2. ยึดติดกับตัวเลขบนตาชั่ง

น้ำหนักของเรานั่นขึ้นๆ ลงๆ ตลอดเวลา ถ้าคุณชั่งน้ำหนักตอนเช้า กลางวัน เย็น เป็นไปได้ที่คุณจะได้ตัวเลขที่แตกต่างกันตลอดทั้งวัน เพราะน้ำหนักของเราเป็นผลรวมของ ไขมัน กล้ามเนื้อ น้ำและอื่นๆ น้ำหนักที่เพิ่มหรือลดไปอาจเป็นแค่มวลน้ำในร่างกาย เป้าหมายของการลดน้ำหนักคือการลดไขมัน แม้ไขมันของคุณลดลงแล้วแต่น้ำหนักคุณอาจจะยังเท่าเดิม เพราะมวลกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้น ดังนั้นอย่ากังวลกับตัวเลขเกินไปเลยค่ะ สังเกตจากความคล่องแคล่วของร่างกาย ความรู้สึกสดชื่นจากสุขภาพที่ดีขึ้น เสื้อผ้าที่หลวมขึ้น รอบเอวที่ลดลง ลจะดีกว่าค่ะ


3. กินอาหาร (สุขภาพ) มากเกินไป

อาหารที่ถูกจัดอยู่ในประเภทของอาหารสุขภาพ หรือ อาหารที่คุณคิดว่าอยู่ในประเภทอาหารสุขภาพ ไม่ได้แปลว่าคุณจะกินมากเท่าไหร่ก็ได้นะคะ เพราะสลัดหนึ่งจานก็มีจำนวนแคลอรี่ที่คุณต้องนับ และหลายครั้งที่อาหารซึ่งถูกแปะป้ายว่าสุขภาพก็ไม่ได้มีเพื่อลดน้ำหนักทุกจาน อาหารสุขภาพบางจานมีไว้เพื่อเพิ่มน้ำหนัก เช่น จานสลัดของนักเพาะกายมีแคลอรี่สูงลิ่วเพราะพวกเขาต้องการมันเพื่อสร้างกล้ามเนื้อจำนวนมาก อย่าตกหลุมกับดักนี้เชียวนะคะ คุณควรออกแบบมื้ออาหารที่เข้ากับเป้าหมายของคุณเองและอย่าลืมนับแคลอรี่ด้วยค่ะ

4. ไม่มีช่วงพักให้ร่างกาย

เมื่อคุณลดน้ำหนักไปได้สักพัก คุณจะเห็นน้ำหนักของตัวเองลดลงแล้ว รูปร่างดีขึ้น นั่นก็เป็นผลมาจากวินัยที่ทำกิจวัตรซ้ำๆ อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ ยิ่งดีด้วยค่ะ และเพื่อให้ไปถึงฝั่งฝัน คุณควรมีรางวัลและเวลาพักให้กับร่างกายตัวเองบ้าง เพื่อไม่ให้เบื่อ ผ่อนคลาย และยิ่งกว่านั้นก็อาจทำให้แผนลดน้ำหนักของคุณสำเร็จง่ายขึ้นด้วย คุณอาจจะมีชีทเดย์ (cheat day) ที่กินตามใจ มีช่วงพักไม่ต้องออกกำลังกายและเอาแต่นอนบ้าง

5. ดื่มน้ำน้อยเกินไป

การออกกำลังกายจะทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำไปจำนวนมาก และหลายคนสับสนระหว่างความกระหายและความหิว การไม่ดื่มน้ำเมื่อออกกำลังกายจึงมีโอกาสจะทำให้คุณหิวได้มากกว่า ดังนั้น ครั้งหน้าถ้าคุณหิว ลองดื่มน้ำดูสักหน่อยแล้วถามตัวเองอีกครั้งว่ายังหิวอยู่ไหม 

6.ลืมนับแคลอรี่ในเครื่องดื่ม 

หลายครั้งที่เราหลอกตัวเองว่าเราแค่ดื่มน้ำ ไม่ได้กินอาหาร แคลอรี่จากของที่ดื่มไปคงไม่เท่าไหร่ แต่อย่าลืมนะคะว่าถาไม่ใช่น้ำเปล่า เครื่องดื่มเองก็มีแคลอรี่เหมือนกัน ทั้งน้ำอัดลม กาแฟ เครื่องดืมแอลกอฮอร์ แม้แต่น้ำผลไม้ปั่นที่เราคิดว่าเป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ แต่ถ้าแม่ค้าใส่น้ำเชื่อมลงไปด้วย สมู้ทตี้แก้วนั้นก็อาจมีแคลอรี่สูงถึง 300-500 แคลอรี่เลยทีเดียว

7.คุณไม่เคยเล่นเวทเลย

ถ้าคุณจะมีเป้าหมายเพียงอยากจะเผาผลาญไขมันให้หมดไปจากตัว และวางแผนให้ตารางออกกำลังกายมีแต่โปรแกรมคาดิโอ นานๆ ครั้งคุณก็ควรจะยกน้ำหนักหรือออกกำลังกายแบบเวทเทรนนิ่งบ้าง เพื่อคงสภาพกล้ามเนื้อซึ่งจะช่วยเผาผลาญไขมัน การออกกำลังแบบคาดิโอจะช่วยเผาผลาญเพียงแค่ตอนที่คุณเล่นคาดิโอเท่านั้น แต่การออกกำลังแบบเวทเทรนนิ่ง การเผาผลาญจะอยู่ต่อไปสักพักแม้จะหยุดออกกำลังกายแล้ว

8.ความเครียด

ถ้าคุณกำลังเครียดเกินไป รู้สึกท้อแท้หรือกังวลกับแผนลดน้ำหนัก ให้หาทางหยุดมันทันทีค่ะ เพราะความเครียดเองก็เป็นหนึ่งในสาเหตุของพพุงน้อยๆ รอบเอว เวลาเครียดร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนคอติซอล (Cortisol) ที่จะกระตุ้นให้เราอยากกินจุกจิกไม่หยุด โดยเฉพาะของหวานๆ

9.นอนหลับไม่เพียงพอ

การนอนหลับไม่พอเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอลมากขึ้นด้วยค่ะ ในภาวะที่ร่างกายนอนไม่พอ ร่างกายจะเข้าสู่โหมดเอาตัวรอด คือ ร่างกายจะเผาผลาญน้อยลงเพื่อรักษาพลังงาน เราจะหิวง่ายขึ้น กินจุกจิกมากขึ้น เพราะร่างกายต้องการพลังงานมากขึ้น ผลคือนน้ำหนักตัวคุณจะไม่ยอมลดสักทีค่ะ

10. ยึดติดกับคำว่า “ลดน้ำหนัก” เกินไป 

ลบคำว่า “ลดน้ำหนัก” ออกไปจากหัวเลยค่ะ เพราะเมื่อใดก็ตามที่พูดถึงการลดน้ำหนัก มันมักจะมาพร้อมกับความคาดหวัง ข้อจำกัดและแรงกดดัน นอกจากนั้นมันยังตอกย้ำว่าคุณกำลังน้ำหนักเกินด้วย จงเปลี่ยนเป็นคำว่า “ดูแลสุขภาพ” แทน สิ่งที่คุณกำลังทำอยู่คือการสร้างสุขภาพที่ดี ถ้าคุณมุ่งเป้าที่สุขภาพที่ดี คุณจะเลิกกังวลกับตัวเลขบนตาชั่ง แล้วใส่ใจไปที่พฤติกรรมในระยะยาวแทน 

ติดต่อเรา