11 นิสัยที่นำพาไปสู่ความอายุยืน
หลายคนมักเข้าใจผิดว่าอายุที่ยืนยาวนั่นเป็นเรื่องของกรรมพันธุ์ ใครดวงดี มียีนดีก็อายุยืนไป แม้ว่าความเชื่อนี้จะถูกต้อง แต่นั่นไม่ใช่ทั้งหมด เรื่องกรรมพันธุ์ก็เป็นเพียงปัจจัยส่วนเล็กๆ เท่านั้น การใช้ชีวิตและพฤติกรรมการกินอาหารต่างหากค่ะ ที่มีบทบาทสำคัญกับเรื่องนี้ ไปดู 11 พฤติกรรมที่จะทำให้คุณมีอายุยืนยาวขึ้นแน่ๆ มีเวลาทำเรื่องสนุกๆ ในชีวิตเพิ่มขึ้นอีกมากกันค่ะ
กินให้พอดี
กินจนจุก กินจุกจิก กินอาหารที่มีแคลอรี่เกินกว่าที่ร่างกายต้องการ ล้วนก่อให้เกิดโรคอ้วน น้ำหนักเกิน ไขมันอุดตัน สิ่งเหล่านี้มักตามมาด้วยโรคเรื้อรังอื่นๆ เช่น ความดัน มะเร็ง หัวใจและเบาหวาน นอกจากนี้งานวิจัยหลายชิ้นยังชี้ว่า การทำ IF (Intermittent Fasting) ที่ควบคุมเวลากินและเวลาห้ามกินอย่างชัดเจน ยังมีผลให้ความเครียดลดลงและช่วยป้องกันโรคบางโรคด้วยค่ะ
กินอาหารจากพืช (plant-based food)
ผลจากการศึกษาพบว่า คนที่กินเจและมังสวิรัติอายุยืนกว่าคนทานเนื้อถึง 12-15% มีโอกาสเสี่ยงต่อโรคมะเร็งน้อยกว่าคนทานเนื้อกว่า 29-52% เลยค่ะ สารอาหารจากผักนั่นปลอดภัยและช่วยป้องกันมะเร็ง ป้องกันโรคหัวใจ โรคที่เกี่ยวกับสมองรวมถึงโรคทางอารมณ์ เพราะโปรตีนจากพืชนั่นปราศจากไขมันเลว มีสารเจือปนน้อยกว่าเนื้อสัตว์ มีใยอาหารและสารอาหารสูงแต่แคลอรี่น้อยนั่นเองค่ะ
กินถั่ว
ถั่ว (Nuts) อย่างอัลมอนด์ เฮเซลนัท เกาลัด วอทนัทและพีแคน เป็นเหมือนยาบำรุงกำลังจากธรรมชาติค่ะ มันมีทั้งสารต้านอนุมูลอิสระที่เป็นสาเหตุหลักของโรคเรื้อรังทั้งมะเร็งและหัวใจ เป็นแหล่งโปรตีนจากธรรมชาติ อุดมด้วยวิตามินและแร่ธาติหลายชนิด เช่น แมกนีเซียม โพแทสเซียม โฟเลท ไนอาซิน วิตามิน B6 และ E มันจึงช่วยป้องกันได้ทั้ง โรคความดันโลหิตสูง ป้องกันการอักเสบ โรคอ้วน ช่วยสมดุลระบบเผาผลาญและมะเร็งบางชนิดได้ เรียกได้ว่าเป็นยาบำรุงชั้นดีเลยค่ะ
กินขมิ้นชัน
ใครที่ส่ายหน้าให้กลิ่นฉุนของเครื่องเทศ อย่างน้อยๆ ก็ทานขมิ้นกันเถอะค่ะ นอกจากขมิ้นจะมีสาร เคอร์คูมีน ที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยคงประสิทธิภาพการทำงานของสมอง หัวใจและปอดให้ทำงานได้อย่างปกติ ช่วยป้องกันมะเร็วและโรคชรา ยังมีสาร เทอร์มาโรน ที่สามารถกระตุ้นการสร้างเซลล์ประสาททดแทน ช่วยป้องกันโรคอัลไซล์เมอร์ได้ด้วย
ขยับตัวบ้าง
เราเน้นย้ำกับมาตลอดให้ทุกๆ ท่านได้โปรดออกกำลังกาย การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมออาจถึงกับช่วยยืดอายุเราได้เป็นปีๆ เลยนะคะ หากพูดกันเป็นตัวเลข ทุกๆ 15 นาทีที่เราออกกำลังกายจะสามารถช่วยลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากโรคต่างๆ ได้ถึง 4% ทั้งนี้ การออกกำลังควรออกเป็นประจำไม่ใช่การออกๆ หยุดๆ นะคะ อย่างน้อยที่สุดทุกๆ ชั่วโมงก็ให้ลุกขึ้นเดิน ขยับร่างกาย ยืดเส้นบ้าง อย่าเหยียดตัวอยู่โซฟาหรือนั่งจ้องคอมนานๆ ติดต่อกันหลายชั่วโมงนะคะ
หยุดสูบบุหรี่
การศึกษาพบว่านักสูบจะเสียเวลาชีวิตไปถึง 10 ปี และมีโอกาสจะเสียชีวิตเร็วกว่าคนที่ไม่สูบถึง 3 เท่า เรารู้กันดีอยู่แล้วว่าบุหรี่คือสารก่อมะเร็งตัวดี เลิกตั้งแต่วันนี้ก็ยังทันค่ะ ถ้าคุณเลิกบุหรี่ตอนอายุ 35 ยังพอดึงเวลาที่เสียไป 10 ปีคืนมาได้ 8 ปี ถ้าเลิกตอน 60 ก็เอาคืนมาได้ 4 ปี อย่าลืมว่ายังไม่สายไปค่ะ
คุมปริมาณแอลกอฮอล์
การดื่มแอลกอฮอร์ส่งผลให้ตับและหัวใจอ่อนแอ แต่คงต้องยอมรับว่าการดื่มแอลกอฮอร์บางประเภทในปริมาณที่เหมาะสมกลับส่งผลดี ไวน์ มีโพลีฟีนอลซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระอยู่มาก งานวิจัยพบว่าในกลุ่มชายนักดื่ม ชายที่เลือกดื่มไวน์จะมีอัตราเสี่ยงในการเสียชีวิตน้อยกว่ากลุ่มที่เลือกดื่มเหล้าและเบียร์อยู่ที่ 34% ค่ะ แต่ถึงจะเป็นไวน์หากดื่มมากเกินไปก็จะส่งผลเสียอยู่ดี ปริมาณที่เหมาะสมนั่นอยู่ที่ 1-2 แก้วต่อวันสำหรับผู้หญิง (ไม่เกิน 7 แก้ว/สัปดาห์) และ 1-3 แก้วต่อวันสำหรับผู้ชาย (ไม่เกิน 14 แก้ว/สัปดาห์) อย่างไรก็ตาม ใครที่ไม่ดื่มอยู่แล้วก็ไม่จำเป็นต้องไปหาไวน์มาหัดดื่มนะคะ
ใส่ใจกับความสัมพันธ์
จากการศึกษาอย่างยาวนาน นักวิจัยพบว่าหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการมีอายุยืนยาวก็คือ ความสัมพันธ์ที่ดี ไม่เป็นพิษและไม่บั่นทอนจิตใจ ความสัมพันธ์ที่มีสุขภาพดีมีผลให้ฮอร์โมน การทำงานของสมอง สุขภาพจิต ระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ความเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังต่างๆ จึงลดลงด้วย การกำจัดความสัมพันธ์ที่เป็นพิษกับเราไปอาจมีผลให้อายุยืนยาวเพิ่มขึ้นถึง 50% เลยค่ะ ไม่ต้องมีเพื่อนเยอะก็ได้แต่ขอให้มีเพื่อนแท้ไม่กี่คนก็พอค่ะ
หาวิธีลดความเครียด
การมีความสุขไม่ใช่แค่ส่งผลดีกับสุขภาพจิต แต่ยังเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้คุณมีชีวิตยืนยาว งานวิจัยชี้ว่าคนที่มีความเครียดและวิตกกังวลจะประสบกับความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากโรคหัวใจ เส้นเลือดในสมองแตกและมะเร็งปอดได้มากกว่าคนที่สภาพจิตใจปกติถึง 2 เท่า ในทำนองเดียวกัน คนที่มีนิสัยมองโลกในแง่ร้ายมีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าคนที่มองโลกในแง่ดีถึง 42% เลยทีเดียวค่ะ
ดื่มชาหรือกาแฟ
ชาและกาแฟเกี่ยวข้องกับโรคเรื้อรังหลายชนิด เช่น โพลีฟีนอล และ แคทีซีน ในชาเขียวสามารถช่วยลดความเสี่ยงโรคมะเร็ง โรคหัวใจและโรคอ้วนได้ ส่วนกาแฟมีฤทธิ์ช่วยลดความเสี่ยงโรคเบาหวานชนิดที่ 2 โรคมะเร็ง อัลไซเมอร์และพากินสันได้ แต่ทั้งนี้ คาเฟอีนในปริมาณที่มากเกินไปก็มีผลกับความเครียด วิตกกังวลและอาการนอนไม่หลับเช่นกัน ฤทธิ์ของคาเฟอีนนั่นมีผลอยู่ประมาณ 6 ชั่วโมง จึงไม่แนะนำให้ดื่มกาแฟในช่วงเย็นค่ะ
นอนให้พอและเป็นเวลา
การนอนคือปัจจัยที่สำคัญมากๆ ในการฟื้นฟูร่างกาย การนอนน้อยเกินไปหรือมากเกินไปส่งผลเสียต่อร่างกาย ถ้าหลับน้อยกว่า 6 ชั่วโมงต่อวันเป็นประจำสามารถเพิ่มความเร็วในการเสียชีวิตได้ถึง 12% เพราะเกิดการอักเสบในเซลล์มากเกินไป เพิ่มโอกาสการเป็นโรคเบาหวานและโรคหัวใจได้ ส่วนการนอนที่มากกว่า 9 ชั่วโมงต่อวันมีผลให้อายุขัยเราสั้นลงได้มากถึง 38% เพิ่มโอกาสการเป็นโรคซึมเศร้าและเฉื่อยช้า การนอนที่ดีคือการนอน 7-8 ชั่วโมงและตื่นนอนเวลาเดิมทุกๆ วันค่ะ
ตัวเลขที่เรากล่าวไป เป็นผลจากการศึกษา วิจัยและสำรวจผู้เข้าร่วมทดลองอย่างใกล้ชิดในระยะเวลาหลายปี เพื่อยืนยันว่าพฤติกรรมเหล่านี้มีผลกับอายุขัยเราอย่างเป็นรูปธรรม อย่าฝากชีวิตไว้กับหมอเชื่อว่ายังมีอีกหลายสถานที่ที่น่าไปเยือน มีคนดีๆ อีกมากมายที่เรายังไม่ได้พบเจอ รวมทั้งประสบการณ์สนุกๆ มากมายรอให้เราไปลอง ยิ่งเรามีอายุยืนยาวก็ยิ่งได้ใช้ชีวิตไปกับเรื่องน่าสนใจเหล่านี้ อยากมีอายุยืนก็ต้องพึ่งตัวเราเองนะคะ ฝากหน้าที่นี้ไว้กับหมอไม่ได้ ขอให้ทุกท่านมีสุขภาพที่ดีค่ะ 🙂
🆓 เเจกฟรี!! 🆓 E-Book “Hypertension & #bluzoneวิถีชีวิตที่ยั่งยืน Cholesterol” By. Dr. AUT
👉 เพียงแค่ แอดไลน์ผ่านลิงค์นี้ค่ะ
✅https://lin.ee/MWBNVxK
——————————-
สนใจสินค้าสุขภาพที่คุณหมอพูดถึง สามารถสั่งซื้อได้ทาง Inbox หน้าเพจ
หรือ Line@ของคลีนิคค่า
✅LINE : https://lin.ee/piE9kvf
——————————-
ติดตามความรู้เรื่องสุขภาพ และวิธีการดูแลสุขภาพได้ที่
📌 เพจ : อย่าฝากชีวิตไว้กับหมอ
📌 Youtube : https://youtube.com/c/อย่าฝากชีวิตไว้กับหมอ
📌 IG : dr.cant.help