11 โรคร้ายที่ สว. (ผู้สูงวัย) ควรเฝ้าระวัง . เมื่ออายุมากขึ้นโรคภัยถามเป็นเรื่อ…

11 โรคร้ายที่ สว. (ผู้สูงวัย) ควรเฝ้าระวัง ⚠️
.
เมื่ออายุมากขึ้นโรคภัยถามเป็นเรื่องที่ไม่เกินความจริง เพราะเมื่อก้าวเข้ามาสู่วัยผู้สูงอายุหรือผู้สูงวัยแล้ว สุขภาพร่างกายก็เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายด้าน ทั้งสมอง อารมณ์ และร่างกายที่เสื่อมถอยไม่แข็งแรงเหมือนตอนวัยหนุ่มสาว ทำให้ผู้สูงวัยมีโรคต่างๆ ตามมามากมาย ถึงแม้จะดูแลตัวเองดีแค่ไหนแต่เรื่องการเจ็บป่วยที่เกิดตามวัยก็เป็นเรื่องที่หนีไม่พ้นเมื่อแก่ตัวลงไปก็อาจพบเจอกับโรคต่างๆ ได้ ซึ่งการสังเกตสุขภาพของตัวเองตั้งแต่เนิ่นๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญเพื่อนำไปสู่การรักษาที่ทันท่วงทีและสามารลดความรุนแรงของโรคลงได้ ซึ่งเมื่ออายุมากขึ้นมักจะพบเจอกับโรคภัยต่างๆ ที่ผู้สูงวัยควรเฝ้าระวัง วันนี้เรามาทำความรู้จักโรคเหล่านั้นกันค่ะ
.
1️⃣ โรคความดันโลหิตสูง
👉 เมื่ออายุมากขึ้นความดันจะสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยมากโรคนี้จะพบในผู้สูงวัยมากกว่าในคนอายุน้อย ปกติค่าความดันโลหิตของคนทั่วไปควรไม่เกิน 120/80 – 139/89 มิลลิเมตรปรอท หากมีความดันมากกว่านี้จัดว่าเป็นผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูง โรคนี้มักไม่ค่อยแสดงอาการผิดปกติ แต่ถ้าความดันสูงขึ้นอาจปวดศีรษะ ใจสั่น หน้ามืด ตาพร่า หากไม่รีบรักษาอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ได้ เช่น อัมพฤกษ์อัมพาต หัวใจวาย ตาบอด ไตวาย
.
2️⃣ โรคเบาหวาน
👉 เกิดจากร่างกายผลิตฮอร์โมนอินซูลินไม่เพียงพอ มีภาวะดื้อต่ออินซูลิน ทำให้ฮอร์โมนอินซูลินทำงานไม่ปกติหรือฮอร์โมนอินซูลินทำงานได้น้อยลง ซึ่งเป็นฮอร์โมนอินซูลินมีความสำคัญในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด เมื่อฮอร์โมนอินซูลินทำงานผิดปกติส่งผลให้ร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลไปใช้งานได้อย่างปกติส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงจึงอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ตามมา เช่น ตาบอด ตาพร่า ไตวาย หัวใจล้มเหลว ชาตามปลายมือปลายเท้า เสี่ยงติดเชื้อได้ง่าย
.
3️⃣ โรคคอเลสเตอรอลสูง
👉 คอเลสเตอรอลคือไขมันชนิดหนึ่งที่ร่างกายสร้างเองได้และสามารพบได้ในอาหาร เป็นไขมันที่จำเป็นต่อร่างกายที่ช่วยสร้างเซลล์ต่างๆ ในร่างกาย แต่หากมีระดับคอเลสเตอรอลมากเกินไปจนกลายเป็นส่วนเกินของร่างกายคอเลสเตอรอลก็จะไปเกาะในหลอดเลือดจนทำให้หลอดเลือดแคบตีบตันลงจึงทำให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ได้ยากจึงเสี่ยงเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมองสูงขึ้น
.
4️⃣ โรคหัวใจขาดเลือด
👉 เกิดจากหลอดเลือดหัวใจตีบหรือตัน เพราะมีไขมันสะสมในหลอดเลือดทำให้หลอดเลือดแคบหรือตีบตันลงจนเลือดไหลเวียนไม่ดี จนไปเลี้ยงหัวใจไม่ได้ทำให้เกิดภาวะหัวใจขาดเลือด พบมากในผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคอ้วน หรือหากคนในครอบครัวเป็นโรคหัวใจจะยิ่งเสี่ยงเป็นโรคนี้สูงมากขึ้น
.
5️⃣ โรคหลอดเลือดสมองตีบตัน
👉 ด้วยอายุที่มากขึ้นจึงทำให้หลอดเลือดเสื่อมสภาพลง ผนังหลอดเลือดอาจหนาหรือแข็งขึ้นด้วยอาจมีไขมันหรือหินปูนมาเกาะ ทำให้เส้นเลือดแคบหรือตีบตันลงส่งผลให้เลือดไหลเวียนไม่ดี ไหลเวียนได้น้อยลง พบมากในผู้สูงวัยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคอ้วน
.
6️⃣ โรคอัลไซเมอร์
👉 เป็นโรคที่ผู้สูงวัยมักเป็นกันเยอะ เกิดจากเซลล์ในสมองตายหรือเซลล์สมองหยุดทำงานทำให้การทำงานของสมองแย่ลง หากสมองเสื่อมตัวมากขึ้นหรือไม่ได้ทำการรักษาจะทำให้สมองยิ่งเสื่อมเร็วขึ้นไปอีก ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการหลงลืมจนไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้และกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
.
7️⃣ โรคไต
👉 โรคนี้ช่วงแรกผู้ป่วยมักจะไม่แสดงอาการหรือแทบไม่มีสัญญาณของโรคนี้เลย แต่เมื่อไตเริ่มเสื่อมมากขึ้นส่งผลให้มีปัญหาในการกำจัดของเสียและเกิดการคั่งของเสียมากขึ้น เมื่อมีการคั่งของเสียร่างกายเริ่มแสดงอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ตัวบวม ความดันโลหิตสูง เมื่อการคั่งของเสียมากขึ้นจะทำให้การทำงานของอวัยวะต่างๆ ผิดปกติ และนำอาจไปสู่ภาวะไตวายเรื้อรัง ที่ต้องทำการล้างไต ฟอกเลือด และเปลี่ยนไต
.
8️⃣ โรคตา
👉 ส่วนมากที่ผู้สูงวัยเป็นกัน คือ โรคจอประสาทตาเสื่อม โรคต้อกระจก โรคต้อหิน โรคต้อลม ตาแห้ง แม้จะเกิดจากหลายสาเหตุและแต่ละคนก็มีอาการที่แตกต่างกัน แต่ส่วนใหญ่โรคตาเกิดจากความเสื่อมของตาตามอายุที่มากขึ้น ทำให้ประสิทธิภาพการมองเห็นลดลง เห็นภาพไม่ชัด หากผู้สูงวัยเริ่มมีปัญหาการมองเห็นไม่ชัดควรพบแพทย์ เพื่อทำการวินิจฉัยและทำรักษาโรคตาอย่างถูกต้อง
.
9️⃣ โรคกระดูกพรุน
👉 มักพบในผู้หญิงสูงวัย โดยเฉพาะวัยหมดประจำเดือน เนื่องจากฮอร์โมนมีการเปลี่ยนแปลงทำให้ฮอร์โมนทำงานได้น้อยลง ซึ่งวัยหมดประจำเดือนเป็นภาวะที่มวลกระดูกมีความหนาแน่นน้อยลงทำให้เกิดกระดูกบางและเปราะหักได้ง่าย โรคนี้มักจะค่อยๆ แสดงอาการออกมา เช่น การเสียวฟัน ฟันผุได้ง่าย หลังงองุ้ม ส่วนสูงลดลง ปวดกระดูกตามกระดูกสันหลัง สะโพก กระดูกข้อมือ หรือบางทีแค่เอี้ยวตัวหรือเกิดอุบัติเหตุเล็กน้อยก็ทำให้กระดูกหักได้เลย
.
🔟 โรคข้อเข่าเสื่อม
👉 เกิดจากการใช้งานเข่ามาเป็นเวลานาน มักพบในผู้หญิงสูงวัยมากกว่าผู้ชายสูงวัยถึง 2 เท่า ซึ่งโรคนี้เกิดจากการเสื่อมของกระดูกอ่อนบริเวณผิวข้อ มักมีอาการปวดที่ข้อ ข้อบวม ข้อขัด ขาโก่ง เหยียดขาได้ไม่สุด ยิ่งในคนที่มีน้ำหนักตัวมากอาจส่งผลให้ข้อเข่าเสื่อมเร็วมากขึ้น หากไม่รีบรักษาหรือยังคงมีพฤติกรรมการใช้งานเข่าแบบเดิมอาจส่งผลให้ข้อเข่าเสื่อมรุนแรงมากขึ้นจนอาจทำให้เดินลำบากหรือจนถึงเดินไม่ได้
.
1️⃣1️⃣ โรคเกาต์
👉 เกิดจากการสะสมของกรดยูริกในร่างกายเป็นจำนวนมาก ยิ่งผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนจะมีระดับกรดยูกริกในเลือดสูงกว่าวัยอื่นๆ หากรับประทานอาหารที่มีสารพิวรีนสูงเป็นประจำ เช่น เครื่องในสัตว์ กุ้ง หอย ชะอม กะปิ หน่อไม้ อันเป็นสาเหตุสำคัญในการทำให้กรดยูริกในร่างกายสูงมากเกินไป หรือการรับประทานน้ำตาลผลไม้หรือน้ำตาลฟรุกโตสก็เป็นตัวการสำคัญที่เพิ่มระดับกรดยูริกในร่างกายด้วยเช่นกันจึงควรเลี่ยงอาหารเหล่านี้ และกรดยูริกสูงยังเป็นบ่อเกิดของโรคความดันโลหิตสูงได้อีกด้วย
.
เมื่ออายุมากขึ้นการเจอกับโรคต่างๆ ก็อาจเลี่ยงไม่ได้ เพราะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากการเสื่อมของร่างกาย แต่สามารถลดความเสี่ยงหรือความรุนแรงของโรคได้ ควรสังเกตสุขภาพของตัวเองไว้แต่เนิ่นๆ หากมีอาการผิดปกติใดๆ ก็ควรพบแพทย์เพื่อทำการรักษา หรือควรเริ่มดูแลใส่ใจสุขภาพตั้งแต่วัยหนุ่มสาวเพื่อสร้างสุขภาพที่แข็งแรงตั้งแต่ต้น เมื่อแก่ตัวไปก็จะได้ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคลงได้ เพราะสุขภาพที่แข็งแรงเป็นของขวัญชิ้นใหญ่ที่ดีมากๆ นั่นเองค่ะ : )
.
#อย่าฝากชีวิตไว้กับหมอ #Health #Disease #โรคความดันโลหิตสูง #โรคเบาหวาน #โรคของผู้สูงวัย

ติดต่อเรา