13 ฮอร์โมนสำคัญในร่างกาย ที่ทุกคนควรทำความรู้จัก ทราบไหมคะว่า “ฮอร์โมน” ในร่าง…

13 ฮอร์โมนสำคัญในร่างกาย ที่ทุกคนควรทำความรู้จัก

ทราบไหมคะว่า “ฮอร์โมน” ในร่างกายของคนเรานั้นมีอยู่ด้วยกันถึงกว่า 54 ชนิด โดยพวกมันเป็นกลุ่มสารเคมีที่สร้างจากเนื้อเยื่อหรือต่อมไร้ท่อในร่างกาย แล้วถูกลำเลียงไปตามระบบหมุนเวียนโลหิต เพื่อทำหน้าที่ควบคุมการเจริญเติบโต ควบคุมลักษณะทางเพศ และควบคุมการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย โดยวันนี้เราจะมาพูดถึงฮอร์โมนสำคัญ 13 ชนิดที่ทุกคนควรทำความรู้จักกันค่ะ
.
กลุ่มฮอร์โมนเพศ
– เอสโตรเจน (Estrogen)
ฮอร์โมนที่ทำให้เกิดลักษณะเพศหญิง เช่น มีเต้านม สะโพกผาย ผิวเรียบเนียน ช่วยให้กล้ามเนื้อและกระดูกแข็งแรง เกี่ยวเนื่องกับการมีประจำเดือน การผลิตไข่ และการตกไข่
.
– โปรเจสเตอโรน (Progesterone)
ฮอร์โมนที่ช่วยกระตุ้นให้เยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัว เตรียมพร้อมสำหรับตั้งครรภ์ในช่วงมีรอบเดือน ยับยั้งไม่ให้มดลูกบีบตัวขณะตั้งครรภ์ และป้องกันมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก
.
– เทสโทสเตอโรน (Testosterone)
ฮอร์โมนที่ทำให้เกิดลักษณะเพศชาย เช่น มีกล้ามเนื้อมากขึ้น มีหนวดเครา ขนดก เสียงแตก ช่วยให้ร่างกายตื่นตัว กระปรี้กระเปร่า เสริมสร้างกล้ามเนื้อและกระดูกให้แข็งแรง
.
กลุ่มฮอร์โมนแห่งความสุข
– เอ็นดอร์ฟิน (Endorphin)
ฮอร์โมนบรรเทาอาการปวดคล้ายมอร์ฟีนธรรมชาติ ช่วยลดความเจ็บปวดและความเครียด ช่วยให้จิตใจผ่อนคลาย เป็นสุขมากขึ้น และเสริมระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง
.
– เซโรโทนิน (Serotonin)
ฮอร์โมนต้านความเครียด ช่วยปรับความคิดให้ไปในเชิงบวก เช่น รู้สึกเป็นสุข สงบ ผ่อนคลาย ใจเย็น มีสมาธิ อารมณ์มั่นคงไม่หวั่นไหว ช่วยลดอาการซึมเศร้าและวิตกกังวล
.
– โดพามีน (Dopamine)
ฮอร์โมนควบคุมอารมณ์และความรู้สึก ส่งผลให้เกิดอารมณ์พึงพอใจ ความปิติยินดี ความรักใคร่ชอบพอ มีความตื่นตัว กระฉับกระเฉง มีสมาธิมากขึ้น และไวต่อสิ่งกระตุ้นรอบตัว
.
– ออกซิโตซิน (Oxytocin)
ฮอร์โมนสร้างความผูกพันกับคนที่เรารัก โดยเฉพาะเวลากอด สัมผัส หรือมีเพศสัมพันธ์ ทำให้เกิดความเชื่อใจ และรู้สึกปลอดภัยเมื่อได้สัมผัสอบอุ่นจากคนที่รัก
.
กลุ่มฮอร์โมนจัดการความเครียด
– อะดรีนาลีน (Adrenaline)
ฮอร์โมนที่หลั่งเมื่อเจอกับสภาวะกดดัน เช่น เครียด โกรธ ตื่นเต้น หรือตกใจ โดยจะกระตุ้นให้หัวใจบีบตัวให้เลือดสูบฉีดเพื่อเพิ่มพลังงานให้ร่างกายใช้ในการป้องกันตัวฉุกเฉิน
.
– คอร์ติซอล (Cortisol)
ฮอร์โมนแห่งความเครียด หลั่งเมื่อเรารู้สึกเครียด วิตกกังวล หรือมีอาการป่วยไข้ เพื่อต่อสู้กับความเครียดและฟื้นฟูร่างกาย กระตุ้นความหิวโหยเพื่อเพิ่มพลังงานให้กับร่างกาย
.
กลุ่มฮอร์โมนสำคัญอื่นๆ
– อินซูลิน (Insulin)
ฮอร์โมนที่ควบคุมสมดุลของระดับกลูโคสในเลือด ช่วยให้เซลล์เก็บสะสมกลูโคสไปใช้เป็นพลังงาน และช่วยเก็บกลูโคสส่วนเกินไว้ในตับเพื่อเป็นพลังงานสำรอง
.
– โกรทฮอร์โมน (Human Growth Hormone)
ฮอร์โมนควบคุมการเจริญเติบโตและการทำงานของอวัยวะในร่างกาย มีผลต่อความสูงและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและกระดูก ช่วยฟื้นฟูและซ่อมแซมกล้ามเนื้อขณะหลับ
.
– ไทรอยด์ฮอร์โมน (Thyroid Hormones)
ฮอร์โมนที่ต่อมไทรอยด์ผลิตเข้าสู่กระแสเลือด ช่วยควบคุมการเผาผลาญพลังงาน ระดับอุณหภูมิของร่างกาย ระดับไขมันในเลือด รวมถึงความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ
.
– เมลาโทนิน (Melatonin)
ฮอร์โมนที่ช่วยควบคุมวงจรการหลับ-ตื่นของร่างกาย โดยหลั่งออกมาช่วงกลางคืนเพื่อเตรียมร่างกายให้พร้อมสำหรับการนอนหลับ ทำให้เรารู้สึกง่วงนอนและผ่อนคลาย

ติดต่อเรา