9 พฤติกรรมเสี่ยง “สมองพัง” แบบไม่รู้ตัว รู้หรือไม่ว่าพฤติกรรมที่คุณทำจนคุ้นชิน …

9 พฤติกรรมเสี่ยง “สมองพัง” แบบไม่รู้ตัว

รู้หรือไม่ว่าพฤติกรรมที่คุณทำจนคุ้นชิน และกลายเป็นนิสัยติดตัวนั้น บางครั้งกลายเป็นพฤติกรรมที่สุ่มเสี่ยงต่อการทำลายสุขภาพสมองในระยะยาว มาดูกันว่าพฤติกรรมสุ่มเสี่ยง ที่ควรหลีกเลี่ยงมีอะไรบ้าง

1. ชอบเก็บตัวในห้องมืดๆ
คนที่ชอบอยู่ในห้องมืดๆ ปิดไฟปิดม่านทึบสนิทแทบทั้งวัน อาจส่งผลต่อการทำงานของสมองในการหลั่ง “เมลาโทนิน” ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ควบคุมวงจรการหลับหรือตื่นของเราให้ปกติ หากเราไม่ได้รับแสงแดดในช่วงกลางวัน ก็อาจทำให้ช่วงเวลาการหลั่งเมลาโทนินของสมองผิดเพี้ยน และส่งผลให้นอนไม่หลับได้ในที่สุด

2. เสพข่าวเชิงลบเกินพอดี
การเลือกเสพข่าวเชิงลบอย่างต่อเนื่อง นอกจากจะส่งผลต่ออารมณ์ ความคิด และพฤติกรรมของเรา ก็ยังกระตุ้นให้สมองของเราเข้าสู่ “ภาวะสู้หรือหนี” (Fight-or-Flight Response) เพื่อรับมือกับภาวะความเครียดที่เกิดขึ้น ซึ่งจากการศึกษาพบว่ามันอาจส่งผลต่อประสิทธิภาพของสมองและความทรงจำในระยะยาวได้

3. ชอบเปิดเพลงเสียงดังๆ
การเปิดเพลงเบาๆ ฟังนั้นส่งผลดีต่อสมอง ช่วยให้เรารู้สึกสงบและผ่อนคลายมากขึ้นได้ แต่ในทางกลับกัน หากเสียงนั้นดังหรือมีระดับที่สูงจนเกินไป ก็อาจส่งผลต่อสมองและการรับรู้ของเรา จากการศึกษาพบว่าการฟังเสียงที่ดังเกินไปอย่างต่อเนื่อง อาจเสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อมเพิ่มขึ้นได้ 30-40%

4. ชอบเก็บตัวอยู่คนเดียว
คนที่มีพฤติกรรมแยกตัวออกจากสังคม ไม่ชอบพบปะผู้คน นอกจากจะส่งผลเสียทางด้านสุขภาพจิต ก็ยังอาจส่งผลต่อสมองด้วยเช่นกัน โดยจากการศึกษาพบว่าคนที่มีภาวะโดดเดี่ยวทางสังคม (Social Isolation) มักเสี่ยงต่อความเครียดเรื้อรังสะสม จนนำไปสู่โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ได้ง่ายขึ้น

5. ชีวิตติดจอมากเกินไป
หากเราใช้เวลาไปกับอินเทอร์เน็ต โซเชียลมีเดีย หรืออยู่กับหน้าจอมากจนเกินพอดี จากการศึกษาพบว่ามันอาจสร้างความเสียหายต่อสมองในส่วน Gray และ White Matter ในบริเวณสมองกลีบหน้า (Frontal lobe) ที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับความคิด ความจำ สติปัญญา และนำไปสู่โรคสมองเสื่อมได้

6. ติดหวาน ขาดน้ำตาลไม่ได้
หลายคนเสพติดความหวานเพราะมันช่วยคลายเครียดได้ดี แต่การทานน้ำตาลที่มากเกินไป นอกจากจะเป็นสาเหตุของการเกิดโรคอ้วน โรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูงแล้ว ยังขัดขวางการดูดซึมโปรตีนและสารอาหารที่เป็นประโยชน์ ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาของสมอง และในระยะยาวอาจเพิ่มความเสี่ยงโรคสมองเสื่อมได้

7. ปล่อยให้ตัวเองอ้วนลงพุง
จากการศึกษาพบว่าภาวะอ้วนลงพุง จะก่อให้เกิดการดื้อต่ออินซูลินในสมอง และการสูญเสียการทำงานของไมโตคอนเดรียในสมอง ทำให้เกิดการสูญเสียการเรียนรู้และความจำในที่สุด หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ยิ่งอ้วนก็ยิ่งทำให้การเรียนรู้และความทรงจำแย่ลง และเสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อมได้

8. นั่งติดที่ ไม่ค่อยออกกำลัง
หากเราชอบนั่งอยู่กับที่นานๆ ไม่ค่อยได้ขยับเขยื้อนร่างกาย ก็จะเพิ่มความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมองและหัวใจและโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอื่นๆ มากมาย เราจึงควรหันมาออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมออย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน ก็จะทำให้สมองแจ่มใสเนื่องจากได้รับออกซิเจนที่เพียงพอ และช่วยชะลอสมองเสื่อมได้

9. นอนน้อยหรือมากเกินไป
คนที่อดนอนอยู่บ่อยๆ หรือมีปัญหาในการนอนไม่หลับ จะทำให้สมองไม่ได้รับการพักผ่อนเท่าที่ควร และอาจทำให้เซลล์สมองตาย ความสามารถในการจดจำลดลง และเสี่ยงต่อโรคโรคอัลไซเมอร์ แต่ก็ไม่ควรนอนหลับมากจนเกินไปเช่นกัน เพราะจะทำให้สมองเฉื่อยชา คิดอะไรเชื่องช้า และเสื่อมประสิทธิภาพได้
.
เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว เรามาปรับพฤติกรรม เพื่อให้สมองยังคงใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพในระยะยาวตั้งแต่วันนี้กันค่ะ

ติดต่อเรา