ค่าความดันโลหิต บอกอะไรคุณบ้าง?

ไม่ว่าจะเจ็บคอ ปวดหัว หัวร้อน อาเจียนหรือแค่ปวดเข่า ไม่ว่าเราจะเป็นอะไรมา ไม่ว่าจะที่คลินิกหรือโรงพยาบาล ด่านแรกที่ต้องเจอคือคุณพยาบาลคอยวัดไข้ ชั่งน้ำหนักและวัดความดันโลหิตหรือที่เราเรียกกันติดปากแค่ว่า “วัดความดัน” เลของศาไข้กับค่าน้ำหนักตัวใครๆ ก็เข้าใจความหมายกันดี แต่เจ้าตัวเลขที่เราเห็นบนเครื่องวัดความดัน มันหมายถึงอะไรกันล่ะ?

หน้าจอเครื่องวัดความดันโลหิตจะแสดงผลเป็น 2 ตัวเลข เช่น 120/80 mmHg. ค่าเลขตัวแรกคือความดันช่วงบน (systolic) หมายถึงค่าความดันสูงสุดที่หัวใจบีบตัวเพื่อส่งเลือดไปทั่วร่างกาย ส่วนตัวหลังคือความดันช่วงล่าง (diastolic) หมายถึงค่าความดันต่ำสุดที่หัวใจคล้ายตัวจากการสูบฉีดเลือด ความดันโลหิตที่ปกติตัวเลขช่วงบนควรจะอยู่ระหว่าง 90-120 และเลขช่วงล่างอยู่ระหว่าง 60-80 หากค่าช่วงบนหรือช่วงล่างมีค่าต่ำหรือสูงกว่านี้ คุณอาจมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคความดันโลหิตได้ค่ะ

แต่ถ้าตรวจเจอค่าความดันที่ผิดปกติเพียงครั้งเดียว ยังไม่ถือว่าเป็นโรคความดันโลหิตนะคะ คุณหมอจะวินิจฉัยจากการตรวจหลายครั้งเพื่อหาค่าเฉลี่ยค่ะ เพราะความดันที่ผิดปกติไปอาจเกิดจากความผิดพลาดง่ายๆ อย่างอาการตื่นเต้นหรือความเครียดฉับพลันหรือการรับยาบางชนิด 

ในภาวะความดันโลหิตต่ำ (มีค่าความดันโลหิตต่ำกว่า 90/60 mmHg.) อาจมีอาการเมา วิงเวียน หน้ามืดเป็นลม หรืออาการช็อกในขั้นร้ายแรง สาเหตุเป็นไปได้ ทั้งจากการเสียเลือด อาการแพ้ ภาวะทุพโภชนา (ได้รับสารอาหารที่น้อยหรือมากเกินไป) การตั้งครรภ์ ภาวะขาดน้ำ โรคหัวใจ โรคต่อมไร้ท่อ เป็นต้น

ส่วนในภาวะความดันโลหิตสูง เราสามารถแบ่งระดับได้ดังนี้ค่ะ 

  • ภาวะความดันโลหิตสูงระยะเริ่มแรก (120-129/ต่ำกว่า 80 mmHg.) เป็นสัญญาณเตือนของโรคความดันโลหิตสูง ในระยะนี้ยังไม่จำเป็นต้องใช้ยาช่วยควบคุมระดับความดันโลหิตค่ะ แต่ต้องลองสำรวจนิสัยที่ทำลายสุขภาพบ้างแล้ว เพราะในระดับนี้ยังง่ายต่อการรักษาสุขภาพให้ความดันกลับไปอยู่ในค่าปกติได้ง่ายค่ะ 
  • ภาวะความดันโลหิตสูงระดับ 1 (130-139/80-89 mmHg.) เป็นระยะที่อาจจะต้องทานยาลดความดันควบคู่กับการปรับนิสัยและลดน้ำหนักอย่างจริงจังค่ะ 
  • ภาวะความดันโลหิตสูงระดับ 2 (140 หรือมากกว่า / 90 หรือมากกว่า  mm Hg.) ในระดับที่ 1-2 มักไม่ค่อยมีอาการชัดเจน แต่ผลเสียของมันจะส่งผลกับอวัยวะอื่นๆ เช่น ภาวะไตเสื่อม หัวใจขาดเลือดหรือล้มเหลว อัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นต้น 
  • ภาวะความดันโลหิตสูงขั้นวิกฤติ (180/120 mmHg. ขึ้นไป) เป็นขั้นร้ายแรงที่จะต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน อาการจะชัดเจนกว่าระดับ 1 และ 2 เช่น อาการปวดหัว วิงเวียน การมองเห็นจะแย่ลง หายใจลำบาก เจ็บหน้าอก มีเลือดปนในปัสสาวะและอาจช็อกได้ค่ะ

(ค่าปกติของความดันโลหิต ยังขึ้นอยู่กับอายุและโรคประจำตัว เช่น ผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ค่าปกติจะอยู่ที่ ต่ำกว่า 150/90 mmHg เป็นต้น)

วิธีป้องกันและรักษา นอกจากการทานยาเพื่อคุมความดันแล้ว นิสัยส่วนตัวของคนไข้นั่นสำคัญยิ่งกว่าค่ะ เนื่องจากยาสามารถแก้ไขปัญหาได้เพียงปลายเหตุ แม้โรคความดันโลหิตส่วนใหญ่จะไม่สามารถหาสาเหตุได้แน่ชัดเพราะอาจเกิดจากพันธุกรรมหรือโรคอื่นๆ ก็ได้ แต่เรารู้แน่ถึงปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงค่ะ เช่น อายุที่มากขึ้น นิสัยการกิน ความเครียดและน้ำหนักที่เกินเกณฑ์ ดังนั้น หากคุณอยากหนีห่างจากโรคนี้หรือหากคุณกำลังประสบกับภาวะความดันโลหิตสูงอยู่ นี้คือคำแนะนำจากเราค่ะ

  1. ออกกำลังกายแบบแอโรบิกหรือคาดิโอ ที่เคลื่อนไหวร่างกายต่อเนื่อง 15-30 นาที จะช่วยให้กล้ามเนื้อหัวใจของคุณแข็งแรงขึ้นค่ะ
  2. ควบคุมน้ำหนัก ลองสำรวจค่า BMI ว่ายังอยู่ในเกณฑ์ไหม หากมากไป ก็ถึงเวลาวางแผนลดน้ำหนักแล้วค่ะ 
  3. บอกลาบุหรี่และสุรา ควันบุหรี่กับแอลกอฮอร์จะยิ่งส่งผลเสียกับสุขภาพหัวใจ ซึ่งเป็นอวัยวะที่เกี่ยวข้องโดนตรงกับความดันโลหิตนะคะ
  4. ลดความเครียด นอนหลับให้เพียงพอ หากิจกรรมผ่อนคลายอย่าง การฟังเพลง อ่านหนังสือ ลองทำสมาธิ หรือพบป่ะเพื่อนฝูง
  5. งดอาหารโซเดียมสูง โดยเฉพาะโซเดียมในอาหารสำเร็จรูปและอาหารรสจัด ร่างกายของเราไม่ควรได้รับโซเดียมเกิน 2,300  มิลลิกรัมต่อวัน (หรือ 1,500 มิลลิกรัมในผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูง) เลือกทานหอม กระเทียม ผักชี ขึ้นฉ่ายฝรั่ง ซึ่งมีสารที่ช่วยลดความดันโลหิตได้ค่ะ
  6. งดชา กาแฟและน้ำอัดลมที่มีคาเฟอีน

แม้โรคความดันโลหิตจะฟังดูไม่น่ากลัวเหมือนเบาหวาน โรคไตหรือโรคหัวใจ แต่ความดันโลหิตนี่แหละค่ะ ที่เป็นสาเหตุสำคัญของโรคชื่อน่ากลัวพวกนั้น มันสามารถแอบทำลายร่างกายได้โดยที่เราไม่รู้ตัว จนมีฉายาว่า “ฆาตกรเงียบ” องค์การอนามัยโลก (WHO) ถึงกับต้องออกมาบอกว่ามันเป็นสาเหตุหลักที่คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกและตั้งเป็นเป้าหมายว่าจะลดการเกิดโรคความดันโลหิตให้ได้ 25 % ก่อนปี ค.ศ. 2025

ที่คุณพยาบาลต้องตรวจความดันเราก่อนเสมอ เพราะหากคุณมีภาวะความดันต่ำหรือสูง มันอาจส่งผลคุณหมอต้องเปลี่ยนวิธีการรักษาโรคไปเลยก็ได้ เป็นการบอกภาวะโดยภาพรวมของร่างกายเป็นอย่างไรบ้าง การตรวจความดันบ่อยๆ ยังช่วยให้เรารู้ถึงความเสี่ยงก่อนจะสายเกินแก้ อย่างที่บอกค่ะ ในระยะไม่วิกฤติมันมักจะไม่แสดงอาการให้เรารู้

สุขภาพที่ดีอยู่ในมือเรา อย่ารอฝากชีวิตไว้กับหมอนะคะ 🙂  

Link1
Link2
Link3
Link4
Link5
Link6

ติดต่อเรา