6 ประเภท “โรคหัวใจ” ที่คุณควรรู้จักและเฝ้าระวัง . ในปัจจุบัน “โรคหัวใจ” (Heart…

🫀 6 ประเภท “โรคหัวใจ” ที่คุณควรรู้จักและเฝ้าระวัง ⚠️
.
ในปัจจุบัน “โรคหัวใจ” (Heart Disease) เป็นสาเหตุหนึ่งของการเสียชีวิตที่มากที่สุดในโลก โดยความผิดปกตินั้นอาจเกิดขึ้นได้ในส่วนของหัวใจที่ต่างกัน จึงทำให้มีอาการที่แตกต่างกันได้ หากเราเข้าใจเกี่ยวกับโรคหัวใจและทราบถึงปัจจัยเสี่ยง ก็จะมีโอกาสลดความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจได้ วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกัน 6 ประเภทของโรคหัวใจที่ควรรู้จักและเฝ้าระวัง ดังนี้ค่ะ
.
1️⃣ โรคหลอดเลือดหัวใจ
โรคหลอดเลือดหัวใจเกิดจากการตีบหรืออุดกั้นของหลอดเลือดที่ส่งอาหารและออกซิเจนไปยังกล้ามเนื้อหัวใจ ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะหัวใจขาดเลือด หรือหัวใจวาย เสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้
⚠️ ปัจจัยเสี่ยง: ความอ้วน ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และการสูบบุหรี่
🫀 อาการ: รู้สึกเจ็บแน่นหน้าอก ร้าวไปตามกราม แขน ลำคอ ตัว อ่อนเพลีย หรือหมดสติได้
.
2️⃣โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ
โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะเป็นสภาวะที่หัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอ ซึ่งอาจเกิดจากความผิดปกติของระบบนำส่งสัญญาณไฟฟ้าของหัวใจ และอาจนำไปสู่ความผิดปกติของร่างกายได้
⚠️ ปัจจัยเสี่ยง: โรคหลอดเลือดหัวใจ ความดันโลหิตสูง ความเครียด และการใช้สารเสพติด
🫀 อาการ: หัวใจอาจเต้นเร็วหรือช้ากว่าปกติ ใจสั่น เหนื่อยง่าย แน่นหน้าอก เวียนศีรษะ หรือคล้ายจะเป็นลม
.
3️⃣โรคกล้ามเนื้อหัวใจ
โรคกล้ามเนื้อหัวใจคือสภาวะที่กล้ามเนื้อหัวใจบวมหรืออ่อนแรง จนไม่สามารถทำหน้าที่ในการสูบส่งเลือดได้ตามปกติ ส่งผลต่อการทำงานของหัวใจ อาทิเช่น โรคหัวใจตีบ หรือโรคหัวใจขยาย
⚠️ ปัจจัยเสี่ยง: อาจเกิดจากการติดเชื้อ การเสียหายของกล้ามเนื้อหัวใจจากโรคหลอดเลือดหัวใจ หรือปัจจัยพันธุกรรม
🫀 อาการ: เหนื่อยง่าย หายใจไม่อิ่ม อาการมักหนักขึ้นเมื่อต้องออกแรงหนักๆ บวมตามแขน ขา นอนราบไม่ได้ และตื่นขึ้นมาไอในเวลากลางคืน
.
4️⃣โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของโครงสร้างหัวใจตั้งแต่กำเนิด เช่น การปิดของโพรงหัวใจไม่สมบูรณ์ หรือหลอดเลือดหัวใจผิดตำแหน่ง ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นตั้งแต่ทารกยังอยู่ในครรภ์แม่ สามารถตรวจพบเบื้องต้นผ่านการสแกนอัลตราซาวนด์ในช่วงท้องครรภ์
⚠️ ปัจจัยเสี่ยง: ความผิดปกติของพันธุกรรมขณะตั้งครรภ์ มีการติดเชื้อ การได้รับยาบางชนิด การใช้สารเสพติด การได้รับรังสี ตั้งครรภ์เมื่อมีอายุมาก
🫀 อาการ: ทารกอาจมีอาการเหนื่อยขณะให้นม และเลี้ยงไม่โต
.
5️⃣โรคลิ้นหัวใจ
คือโรคที่เกิดความผิดปกติขึ้นบริเวณลิ้นหัวใจทั้งอาการลิ้นหัวใจตีบ และลิ้นหัวใจรั่ว หากปล่อยทิ้งไว้จะทำให้การไหลเวียนของเลือดมีปัญหาในระดับรุนแรงจะทำให้เสียชีวิตจากภาวะหัวใจล้มเหลวได้
⚠️ ปัจจัยเสี่ยง: การติดเชื้อ เชื้อโรคในช่องปาก เข็มฉีดยาที่ไม่สะอาด การเจาะตามร่างกาย เช่น เจาะลิ้น เจาะอวัยวะเพศ
🫀 อาการ: หากมีความผิดปกติของลิ้นหัวใจมาก จะมีอาการเหนื่อยง่าย เสี่ยงภาวะหัวใจวายหรือน้ำท่วมปอดได้
.
6️⃣โรคติดเชื้อบริเวณหัวใจ
โรคนี้เกิดจากการติดเชื้อที่ส่วนต่าง ๆ ของหัวใจ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจ หรือลิ้นหัวใจ โดยมักเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย การติดเชื้ออาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของหัวใจและสามารถนำไปสู่ภาวะอันตรายได้
⚠️ ปัจจัยเสี่ยง: การติดเชื้อในร่างกาย เช่น เป็นฝี หนอง หรือฟันผุ มีภูมิต้านทานในร่างกายต่ำ
🫀 อาการ: เป็นไข้เรื้อรัง อ่อนเพลีย เหนื่อยล้า หัวใจเต้นผิดปกติ หายใจหอบเหนื่อย ไอเรื้อรังแห้ง ๆ ขาหรือช่องท้องบวม รวมถึงมีผื่นหรือจุดขึ้นตามผิวหนัง
.
หวังว่าข้อมูลจะเป็นประโยชน์ในการติดตามดูแลสุขภาพหัวใจของตนเองและคนรอบข้างกันนะคะ เพื่อป้องกันโรคหัวใจเราก็ควรดูแลสุขภาพตัวเอง พบปะคุณหมอเพื่อตรวจสุขภาพประจำปี และการปรับปรุงพฤติกรรมการกิน เช่น การรับประทานอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วน ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหัวใจ เช่น การทานอาหารไขมันสูง การสูบบุหรี่ สารเสพติด เป็นต้น หากสังเกตถึงอาการผิดปกติเกี่ยวกับหัวใจ ก็ควรปรึกษาแพทย์เพื่อวินิจฉัยโรคอย่างถูกต้องนะคะ
.
#อย่าฝากชีวิตไว้กับหมอ #Health #Disease #โรคหัวใจ

ติดต่อเรา