เราไม่ได้ล้อเล่น คุณอ่านหัวข้อของเราวันนี้ไม่ผิดหรอกค่ะ วันนี้เราจะมาบอกข้อมูลลับๆ เรื่องการลดน้ำหนักเกี่ยวกับเจ้าเบคอนที่ขึ้นชื่อว่ากินแล้วอ้วนแน่ๆ มันจึงไม่เคยอยู่ในลิสต์ของที่ต้องซื้อของคนลดน้ำหนักเลย อ่านบทความชิ้นนี้จบแล้ว ช้อปปิ้งลิสต์ของคุณอาจมีเจ้าเบคอนโผล่มาทุกสัปดาห์ก็ได้ค่ะ
ก่อนอื่นเราอยากแนะนำให้คุณรู้จัก อินซูลิน (Insulin) ฮอร์โมนตัวสำคัญที่มีอำนาจมากพอจะทำให้คุณอ้วนหรือผอมได้ ขึ้นอยู่กับวิธีการกินของคุณเอง (เพจเราเคยพูดถึงความลับของอินซูลินเอาไว้ ลองเข้าไปตามอ่านดูนะคะ )
เป้าหมายอย่างหนึ่งของคนลดน้ำหนัก ไม่ว่าจะด้วยการทำ IF, กินแบบ Ketogenic หรือด้วยวิธีออกกำลังอย่างเดียว ก็คือ ลดระดับอินซูลินในร่างกายให้มากที่สุด เพราะการมีอินซูลินในร่างกายมากๆ ส่งผลให้คุณอยากกินของหวาน อยากน้ำตาล และหิวตลอดเวลา ที่ร้ายแรงที่สุดก็คือ อาจทำให้คุณเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 จากภาวะดื้ออินซูลินเอาได้
การจะลดระดับอินซูลิน มีข้อปฏิบัติหลักๆ คือ จะต้องไม่กินจุกจิก ไม่กินหวาน ยิ่งท้องว่างนานๆ อินซูลินยิ่งต่ำ เป็นสาเหตุหนึ่งว่าทำไมการกินแบบ Ketogenic (อินซูลินลดเพราะกินแป้งน้อย) และ IF (อินซูลินลดในช่วงที่อด) จึงเป็นที่นิยมกันมาก
แล้วเบคอนมันมาเกี่ยวกับเรื่องนี้ยังไง? ก็เพราะเรามักเข้าใจกันผิดๆ ว่าอาหารที่มีน้ำตาลน้อยจะกระตุ้นอินซูลินได้น้อยด้วยเช่นกัน
Glycemic Index (G.I.) คือดัชนีน้ำตาลในอาหารนั้นๆ เช่น โดนัทมีค่า GI อยู่ที่ 76 ผักกาดมีค่า GI อยู่ที่ 10 อีกค่าที่คุณควรรู้จักคือ Insulin Index (I.I.) คือดัชนีความสามารถในการกระตุ้นอินซูลินของอาหารชนิดนั้น
ที่หลายคนไม่รู้คือ อาหารที่มีดัชนีน้ำตาลน้อยไม่ได้แปลว่า จะมีดัชนีอินซูลินน้อยตาม ยกตัวอย่างเช่น โยเกิร์ตไขมันต่ำ มีค่า GI อยู่ที่ 14 ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับต่ำแต่กลับมีค่า II อยู่ที่ 76 พอๆ กับขนมเพรเซิลหนึ่งชิ้นเลยทีเดียว อย่าลืมนะคะว่าเป้าหมายเราคือการลดระดับอินซูลิน ดังนั้น เวลาจะเลือกกินอะไร อย่าลืมหยิบตาราง Insulin Index มาดูควบคู่กันนะคะ
และสำหรับเจ้าเบคอน พระเอกของเราวันนี้ มันมีดัชนีอินซูลินอยู่แค่ 9 เท่านั้นค่ะ!
พอยะเดาได้แล้วใช่ไหมคะ ว่าทำไมถึงกินเบคอนลดน้ำหนักได้
ตรงข้ามกับอาหารที่มีค่า II สูง เบคอนและอาหารไขมันสูงอื่นๆ เช่น เนย (II = 2), อโวคาโด (II = 6) และน้ำมันมะพร้าว (II = 3) จะมีคุณสมบัติช่วยให้คุณรู้สึกอิ่มได้นานขึ้น มากพอที่จะไม่หาอะไรกินจุกจิกก่อนจะถึงมื้อถัดไป เหตุผลหนึ่งก็เพราะมันไม่กระตุ้นอินซูลิน สำหรับคนที่ทาน IF อยู่ เราจึงแนะนำให้เติมเบคอนลงในมื้อสุดท้ายของวันเพื่อให้อิ่มท้องนานไปจนกว่าจะถึงเวลาของมื้อถัดไปค่ะ
แล้วคอเลสเตอรอลจากเบคอนล่ะ? ไม่ต้องห่วงค่ะ ร่างกายของคนเรามีฟังก์ชั่นการปรับตัวในเรื่องนี้ โดยปกติตับและลำไส้จะผลิตคอเลสเตอรอลอยู่แล้ว เมื่อเรารับอาหารที่มีคอเลสเตอรอลเข้าสู่ร่างกายมากขึ้น ร่างกายจะปรับตัวและผลิตคอเรสเตอรอลให้น้อยลง อย่างไรก็ตาม ไม่ได้แปลว่าคุณจะสามารถกินจนเกินพอดีได้นะคะ
การเลือกซื้อเบคอนหรือไขมันก็ต้องดูให้ดีนะคะ ดูสารอาหารและคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่จะซื้อด้วย อ่านปริมาณสารกันบูดและส่วนประกอบสักนิด
รู้อย่างนี้แล้ว จะกินเบคอนย่างหอมๆ บ้างก็ไม่เป็นไร ไปซุปเปอร์มาเก็ตครั้งหน้าก็หยิบโยนลงตะกร้าเตรียมคิดเมนูฟินๆ ในหัวระหว่างจ่ายเงินได้เลยค่ะ 🙂