ทำความรู้จักโรคเบาหวานชนิดที่ 2

โรคเบาหวาน เป็นภาวะผิดปกติที่ร่างกายไม่สามารถใช้น้ำตาลหรือกลูโคสในเลือดเปลี่ยนเป็นพลังงานเข้าสู่เซลล์ได้ ความผิดปกตินี้แบ่งออกเป็น 4 ชนิด ชนิดที่ 2 (Type 2 Diabetes) เป็นโรคเบาหวานชนิดที่พบได้มากที่สุดค่ะ คิดเป็น 90-95% ของผู้ป่วยเบาหวานทั้งหมด

โดยปกติ เมื่อเรากินอาหาร ร่างกายของเราจะผลิตฮอร์โมนอินซูลินออกมา มันมีหน้าที่นำพาน้ำตาลในเลือดเข้าสู่เซลล์ แต่สำหรับผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ร่างกายจะอยู่ในภาวะดื้ออินซูลิน (Insulin Resistance) ร่างกายจะไม่ตอบสนองกับอินซูลินได้ดีเท่าที่ควร พลังงานน้ำตาลไม่สามารถเข้าสู่เซลล์และระดับน้ำตาลในเลือดพุ่งสูง ผลคือ ในระยะแรกเริ่ม ร่างกายจะอ่อนเพลีย น้ำหนักลด ปัสสาวะบ่อย รู้สึกหิวตลอดเวลา สายตาพร่ามัว ปากแห้ง เป็นต้น หากเป็นมากขึ้น ในระยะยาวอาจมีปัญหาเรื่องแผลหายช้า มีรอยดำที่หลังคอ เจ็บเท้า ไร้ความรู้สึก หรือร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ค่ะ

สาเหตุหลักๆ ของภาวะดื้ออินซูลินมาจากการกินจุกจิก กินตลอดเวลา กินหวานจัด โดยเฉพาะพวกขนมและน้ำหวานที่มีน้ำตาลสูง พฤติกรรมเหล่านี้ทำให้อินซูลินหลั่งออกมาบ่อยและปริมาณมาก จนเซลล์รู้สึกชินชากับอินซูลินในปริมาณเท่าเดิม เมื่อร่างกายไม่สามารถตอบสนองต่ออินซูลินในปริมาณปกติได้ ร่างกายจะบีบให้เราอยากน้ำตาลมากขึ้นเพื่อกระตุ้นอินซูลิน บังคับตับอ่อนให้ผลิตอินซูลินมากกว่าเดิมเพื่อพาน้ำตาลจากเลือดเข้าสู่เซลล์ได้อย่างเคย นานวันเข้า ตับอ่อนจะทำงานหนักจนอาจเสื่อมสภาพและไม่สามารถผลิตอินซูลินได้อีกต่อไปค่ะ

นี่คือข้อปฏิบัติสำคัญเพื่อป้องกันภาวะดื้ออินซูลินค่ะ

  1. คุมอาหารและควบคุมเวลาอาหารให้ดี การกินจุกจิกแม้จะไม่ใช้ของหวาน อาหารทุกประเภทสามารถกระตุ้นให้ร่างกายผลิตอินซูลินได้
  2. เช็คตารางดัชนีอินซูลิน (Insulin Index) เลือกกินอาหารที่มีค่าดัชนีน้อยๆ เพราะอาหารบางชนิดแม้จะมีค่าน้ำตาลน้อยแต่มีคุณสมบัติในการกระตุ้นอินซูลินสูงนะคะ
  3. หลีกเลี่ยงขนมปังขาว เบเกิลและเบเกอรี่อื่นๆ รวมถึงพาสต้าและข้าวขาว เนื่องจากอาหารเหล่านี้มีแป้งสูงและกระตุ้นอินซูลินได้ดี
  4. หลีกเลี่ยงไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์ เช่น ไอศครีม พิซว่า คุกกี้ โดนัท ของทอด เป็นต้น
  5. งดน้ำหวาน รวมทั้งน้ำผลไม้ ให้เลือกทานผลไม้สดแทน 
  6. เลือกทานไขมันดี เช่น อโวคาโด อัลมอนด์ น้ำมันมะกอก น้ำมันมะพร้าว น้ำมันคาโนลา
  7. ทานอาหารที่มีกรดไขมันโอเมก้า 3 เช่น ทูน่า แซลมอน เมล็ดเฟลกซ์
  8. ออกกำลังกายอยู่เสมอ เพราะเซลล์กล้ามเนื้อสามารถเผาผลาญน้ำตาลมากกว่าเซลล์ร่างกายอื่นๆ การสร้างกล้ามเนื้อจึงจะช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ รวมทั้งช่วงหลังออกกำลังกายกล้ามเนื้อจะตอบสนองกับอินซูลินได้ไวขึ้นด้วย
  9. นอนหลับให้เพียงพอ เพราะฮอร์โมนคอติซอลที่หลั่งออกมาเมื่อเกิดความเครียดและพักผ่อนไม่พอเป็นเพื่อนซี้กับอินซูลินค่ะ มันจะกระตุ้นให้เราอยากอาหารและหลั่งอินซูลินออกมามากขึ้น
  10. อย่าลืมตรวจสุขภาพด้วยนะคะ โดยเฉพาะถ้าคนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคเบาหวาน มีพุงหรือภาวะน้ำหนักเกิน

เพื่อป้องกันภาวะดื้ออินซูลิน คุณต้องปรับพฤติกรรมและงดนิสัยทำร้ายร่างกายตัวเองด้วยความสุขจากการกิน แล้วคุณจะสุขภาพดี ปลอดภัยจากโรคเบาหวานชนิดนี้แน่นอนค่ะ 🙂

ติดต่อเรา